ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอด มิสชั่นส์ฟอรั่ม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้สอบถามอธิการบดีหลายแห่งเกี่ยวกับการปรับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง (แอดมิสชั่นส์) มาใช้การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ โดยใช้คะแนนวิชาสามัญ 7 วิชา แทนคะแนนสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT ) นั้นพบว่ามีทั้ง คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มที่เห็นด้วย มองว่าช่วยลดการสอบทำให้เด็กสอบ น้อยลงและผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ด้วย ขณะที่กลุ่มไม่เห็นด้วยจะมองว่าหากปรับแอดมิสชั่นส์ในช่วงนี้ จะเร็วเกินไปและควรศึกษาข้อดีข้อเสียให้ได้คำตอบที่ชัดเจนก่อน ซึ่งตนรับจะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาวิเคราะห์

นายพงษ์อินทร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ คณะทำงานแอดมิสชั่นส์ ฟอรั่มจะประชุมร่วมกับตัวแทนมหาวิทยาลัย ในกลุ่ม ทปอ. สถาบันทดสอบทางการศึกษา แห่งชาติ (สทศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่ใช้คะแนนสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ในการคัดเลือกนักศึกษา เพื่อสรุปปัญหาในการรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งตนได้มอบหมายให้สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปรวบรวมประเด็นต่างๆ ไว้แล้ว แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นพบว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

"อย่างไรก็ตาม กสพท.ได้ยืนยันมาที่ผมแล้วว่า ในการรับนักศึกษาแพทย์ปีการศึกษา 2556 จะใช้คะแนนสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ในการคัดเลือกเด็กต่อไปเพราะมั่นใจในคุณภาพข้อสอบ แต่อยากขอให้ สทศ.ดูแลระบบการสอบให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ส่วนข้อเสนอของที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ทวท.) ยังยืนยันที่จะเสนอ ทปอ. เพื่อขอให้แยกข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ในแอดมิสชั่นส์ เป็นรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา แทนการรวมข้อสอบเป็นวิชาเดียวเพราะไม่สามารถวัดความสามารถของเด็กที่จะเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์ได้ ผมก็จะเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ข้อสอบวิชาสามัญ 7 วิชาที่ใช้รับตรงแทน" ประธานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่มกล่าว และว่า หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอให้ที่ประชุม ทปอ.พิจารณา เพื่อนำผลไปใช้ในการแอดมิสชั่นส์ต่อไป

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 31 พ.ค. 55