ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“เป็นค่านิยมด้วย และรุ่นพี่แนะนำชักนำ เหมือนผมเรียนคณะนิเทศฯ บางทีก็ทำงานอยู่ บางทีทำกิจกรรมกลางคืน ก็มีรุ่นพี่มาหยิบยื่นให้ พวกมากก็ลากไป ก็สูบกันตรงนี้” ป๋อง นักศึกษาที่เคยสูบบุหรี่จัดคนหนึ่งกล่าว

ป๋อง ในวัย 21 ก็เหมือนนักศึกษาอีกหลายๆ คนที่ลองสูบบุหรี่ จนขาดไม่ได้ในเวลาต่อมา จากวันละ 4-5 มวนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นวันละ 3 ซอง วันนี้ ป๋องกับอาชีพดีเจ วัย 24 เริ่มมีอาการไอเรื้อรัง และรู้สึกว่าร่างกายเริ่มจะไม่ไหว นั่นอาจเป็นผลพวงจากการที่เขาอัดบุหรี่ 3 ซอง/วันเป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ทำไมป๋องต้องสูบบุหรี่จัดขนาดนั้น

“เยอะขนาดนั้นเพราะตอนเรียนอยู่ พักจากเรียนมาเข้ากลุ่มเพื่อนกันปุ๊บ ก็นั่งอ่านหนังสือกัน เป็นที่โล่ง ในมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้จะทำอะไรกัน กินน้ำ กินขนม เดี๋ยวก็หยิบขึ้นมาสูบ แก้เซ็ง สนุกสนาน เหมือนว่าเป็นแฟชั่น ทำตามกัน พอเพื่อนคนนี้ นายต่อแล้ว เราก็ต่อ สูบบ้าง มันเลยสูบเพื่อความสนุกสนานเสียมากกว่าที่จะเครียด เครียดนี่มันช่วยไม่ได้มาก แต่เป็นเพราะเพื่อนสำคัญมากที่สุด ..หลังอาหารสำคัญที่สุด พอมีคนบอกกันต่อว่า สูบแล้วย่อยง่าย สบายใจ หลังอาหารเป็นช่วงเวลาที่จะสูบมากที่สุด มันเหมือนกับปลูกฝังกันมา ผู้ใหญ่คนนั้นพูดให้สูบตอนหลังอาหาร ตอนเช้าก่อนเข้าห้องน้ำทำกิจวัตรประจำวันของตัวเอง จะเป็นช่วงเวลาที่จะสูบมากที่สุด ..กาแฟนี่เป็นของคู่กัน เพราะมันมีนิโคตินเหมือนกัน พอสูบปุ๊บกินกาแฟเข้าไป มันก็เหมือนผสมกัน มันพูดไม่ถูก แต่มันเป็นความคิดที่ผิดๆ ผมว่าเดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว“

 ป๋องเคยพยายามเลิกบุหรี่แล้ว แต่หยุดได้แค่เดือนกว่า ก็เข้าสู่สภาพเดิม เพราะต้องอยู่ท่ามกลางพรรคพวกเพื่อนฝูงที่สูบบุหรี่ สิ่งที่ป๋องทำได้ตอนนี้ ก็คือ ลดจำนวนบุหรี่ที่สูบลง จากวันละ 3 ซอง เหลือซองละ 3-4 วัน นั่นคงทำให้สุขภาพของป๋องไม่แย่ลงไปกว่านี้!

ขณะที่ นัท สาวที่ภายนอกดูห้าว ก็ขาดบุหรี่ไม่ได้เช่นกัน หลังลองสูบบุหรี่เล่นๆ กับเพื่อนตั้งแต่ยังเรียนอยู่เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ขณะนี้เธอสูบวันละประมาณ 10 มวน เคยคิดจะเลิกเหมือนกัน แต่ก็ยังทำไม่ได้ คิดว่า ถ้าพ่อแม่ขอร้องให้เธอหยุดสูบอย่างจริงจัง เธอคงจะเลิกได้ แต่สิ่งที่นัท เชื่อว่า น่าจะทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ดีที่สุด ก็คือ รัฐบาลต้องเลิกผลิตบุหรี่

“รัฐบาลควรที่จะเลิกผลิตเลิกจำหน่ายเลยดีกว่า เพื่อตัดปัญหาเรื่องของเด็กในอนาคตไม่ให้เข้าไปสูบ เพราะถ้าเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันอายุประมาณ 35-40 ขึ้นไปแล้ว มันเป็นช่วงที่เลิกค่อนข้างยาก คนช่วงนั้น รัฐบาลอาจจะหาวิธีช่วยบำบัดเขาหรือให้เขาสูบน้อยลง น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าให้เลิกทันที แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เรื่องของการรณรงค์ก็ดีให้เด็กรู้ถึงโทษภัย แต่จริงๆ แล้วถามว่าได้ผลมั้ย ในสังคมจริงๆ แล้วได้ผลไม่ถึง 50% เท่าที่สำรวจดู เพราะเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็ยังไม่ค่อยกังวล คือการปลูกฝังเรื่องการสูบบุหรี่มันยังไม่แรงมากพอที่จะให้เด็กจำ ไม่ได้ปลูกฝังเด็กตั้งแต่วัยเล็กๆ วัยอนุบาลมากกว่า”

ด้านโยธิน ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว บอกว่า ความยากของการเลิกบุหรี่อยู่ที่การเอาชนะใจตัวเอง และต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เมื่อตั้งใจเลิกแล้ว ต้องเลิกให้ได้ เหมือนกับที่เขาได้ทำมาแล้ว เขายังจำได้ดีว่า เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 แต่เพิ่งมาเลิกสูบเมื่อต้นปี 2547 นี้เอง

20 ปีที่เขาสูดควันบุหรี่เข้าปอด โดยเฉพาะ 5 ปีหลังนี้ ปริมาณการสูบมากถึง 2 ซอง/วัน มันมากพอที่จะทำให้สุขภาพของเขาทรุดได้อย่างรวดเร็ว แม้จะอยู่ในวัยแค่ 37 โยธินตัดสินใจไปหาหมอ หลังมีอาการปวดหัวบ่อยๆ เดินเซและเอียงซ้าย ตอนแรกเขาคิดว่า คงพักผ่อนน้อย แต่ผลที่ออกมา ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่เขาคิด

“ผมเข้า-ออกโรงพยาบาลตั้ง 4-5 โรงพยาบาลในช่วง 1 เดือนแรก เพราะผมหาสาเหตุของโรคไม่เจอว่าผมเป็นอะไร จนกระทั่งคุณหมอท่านหนึ่งได้สั่งไปสแกนสมอง ปรากฏว่า ทำสแกนสมอง MRI ก็เจอเลยว่า เส้นเลือดสมองที่ควบคุมการทำงานอยู่ในตำแหน่งด้านซ้ายของร่างกายตีบ และเป็นสาเหตุของอาการต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมด เพราะฉะนั้นคุณหมอบอกว่า ควรที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการเลิกสูบบุหรี่เลย ผมก็เลยจำเป็นที่จะต้องเลิกสูบบุหรี่ แต่สาระสำคัญกับแรงบันดาลใจของผมสำคัญที่สุด ก็คือ ลูกสาว ลูกสาวผมอายุ 4 ขวบครึ่ง ก่อนหน้านั้นตอนที่เขาอายุ 3 ขวบ เขาก็เคยขอให้ผมเลิกสูบบุหรี่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผมยังทำให้เขาไม่ได้ จนกระทั่งผมป่วย แรงบันดาลใจจากการที่เราป่วย แรงบันดาลใจจากการที่เรากลัว แรงบันดาลใจจากลูกสาว หลายๆ สิ่งมาประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้เราเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด ณ วันที่ลูกสาวถามผม ช่วงที่ผมป่วยรักษาตัวอยู่ ถามว่า ทำไมคุณพ่อต้องสูบบุหรี่ คำตอบที่ผมตอบกับลูกสาวกลับไปว่า ถามคุณพ่อทำไมเหรอ ลูกสาวตอบกลับมาว่า อยากให้คุณพ่อมีสุขภาพดี ไม่อยากให้คุณพ่อตาย ซึ่งคำนั้นทำให้ผมคิดอะไรได้เยอะเลยว่า ถ้าผมไม่เลิกสูบ ชีวิตผมก็ต้องจบ ที่สำคัญคือ ผมไม่อยากให้ลูกสาวซึ่งอยู่ในวัย 4 ขวบครึ่ง จะต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่เขายังเด็กวันนั้นผมหักดิบเลย”

แม้การหยุดสูบบุหรี่ จะช่วยลดสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหยุดสิ่งที่ร่างกายเคยได้รับเป็นประจำนั้น ย่อมมีผลข้างเคียงตามมาบ้างในช่วงแรกๆ แต่คุณโยธิน ยืนยันว่า ร่างกายจะปรับตัวได้ในที่สุด

“มาทราบจากทางมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผมก็โทรศัพท์คุยกันตลอดช่วงที่ผมเลิก คือทราบมาว่าก่อนหน้านั้น คนที่สูบบุหรี่นานๆ วันหนึ่งสูบปริมาณมากๆ เวลาเลิกต้องมีผลข้างเคียง ผมพยายามถามตลอดเลย เขาบอกว่ามี เรื่องของอาการเหนื่อยหอบ แน่นอน เพราะสารนิโคตินทำให้ร่างกายเราสดชื่น เมื่อเราขาดสารตัวนี้ไป เป็นธรรมดาที่ร่างกายเราจะต้องอยู่ในสภาพของการปรับตัว รวมทั้งเรื่องของต่อมรับรส รับกลิ่น หรือระบบทางเดินหายใจอยู่ในช่วงการปรับตัว ช่วงแรกๆ ผมเหนื่อยหอบมากเลย แต่ผมเป็นอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ที่สำคัญที่สุด ผมเรียนอย่างนี้ว่า เหนือสิ่งอื่นใดอยู่ที่จิตใจ ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งพอ อะไรก็เลิกได้ ผมชนะใจตัวเอง ผมถึงเลิกได้ และองค์ประกอบแวดล้อม ครอบครัว คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือเรา และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของการออกกำลังกายเข้ามาช่วย ช่วยได้มากๆ เลย ทำให้เราเลิกจากตรงนี้ได้สักที”

แทบไม่น่าเชื่อว่า โยธินสมัยก่อนกับโยธินในวันนี้จะต่างกันลิบลับ จากคนที่เห็นรายการทีวีเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ไม่ได้ เป็นต้องเปลี่ยนช่องหนีทุกครั้ง และรู้สึกว่า ควันบุหรี่มีความหอมหวน ยังไงก็ขาดไม่ได้ แต่วันนี้ วันที่เขาสามารถอดบุหรี่มาได้เกือบครึ่งปีแล้ว เขากลับรู้สึกว่า เหม็นควันบุหรี่มาก เห็นใครสูบเมื่อไหร่ ต้องปลีกตัวออกห่างเมื่อนั้น วันนี้โยธินไม่เพียงเห็นสัจธรรมแห่งพิษภัยของบุหรี่ แต่เขายังได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการเลิกบุหรี่

“ผมรู้เลยว่า นอกจากพิษภัยของตัวสารเสพติดที่ให้โทษกับร่างกายแล้ว ยังต้องมีผลเรื่องของเศรษฐกิจด้วย ผมคิดเล่นๆ สูบบุหรี่มา 20 ปี ถ้าเราคิดว่าเราสูบบุหรี่ ผมสูบวันละ 2 ซอง เป็นเวลา 20 ปี ใช้เงินซื้อประมาณวันละ 100 บาท ปีหนึ่งมี 12 เดือน ปีหนึ่งก็คงตกประมาณ 30,000 บาท 10 ปีก็ 3 แสนกว่า 20 ปีก็ 6 แสนกว่า รวมทั้งเงินรักษาตัวด้วย ผมหมดไปกับตรงนี้ 7-8 แสนนะ มาคิดดูแล้ว ผมไม่น่าเลย ถ้ามองย้อนกลับไป เงินตรงนั้นน่าจะมาเป็นทุนการศึกษาให้ลูก มากกว่าที่จะเอาเงินไปรักษาตัวเอง เราซื้อมาสูบ เสียเงินแล้ว เรายังต้องมารักษาตัวอีก ซึ่งมันค่อนข้างจะตรงกับคำขวัญที่บอกว่า ”สูบบุหรี่ ยิ่งสูบ..ยิ่งจน” ผมเชื่อ”

คำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินอยู่เสมอจากคนที่ไม่ยอมเลิกสูบบุหรี่ ก็คือ ถ้าหยุดสูบเมื่อไหร่ โรคภัยก็จะตามมาเมื่อนั้น ในเมื่อเลิกสูบก็ตาย ไม่เลิกก็ตาย จะเลิกไปทำไมกัน คุณโยธิน บอกว่า ชีวิตคนเราเกิดมา เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ เราน่าจะพยายามทำให้คนรอบข้างมีความสุข ด้วยการเลิกบุหรี่ เพื่อเป็นรางวัลให้กับตนเองและครอบครัว อย่างน้อย ร่างกายที่เคยถูกทำร้ายมานาน ก็จะได้มีเวลาหยุดพักและบำรุงซ่อมแซมบ้าง

“ผมอยากที่จะให้หันกลับไปมองว่า ตัวเราทำร้ายตัวเราเองมามากแล้ว ใช้สุขภาพตัวเราเองมาโทรมแล้ว เราน่าจะหยุดพัก เพื่อให้เขาพักผ่อนบ้าง เหมือนเครื่องจักร หลังการใช้งาน ต้องมีการดูแลรักษา มีการซ่อมบำรุง คนเราก็เหมือนกัน เปรียบเสมือนคนเราจะต้องเข้าโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็เหมือนกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์อย่างหนึ่ง ต้องซ่อมบำรุงรักษา เราทรมานเขามามากแล้วร่างกายเรา เราควรจะหยุดเขามั่ง ควรจะฟื้นฟูสภาพเขาบ้าง และอยากให้มองกลับไปที่สถาบันครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมากเลย หรือแม้กระทั่งว่า เรื่องของการออกกำลังกาย ถ้าหันไปหาตรงนั้น มันก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลีกหนีจากการที่เราเสพและยังสูบอยู่ได้ด้วยการออกกำลังกายช่วย หรือหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สามารถทำได้ในครอบครัวเพิ่มขึ้น อย่างน้อยๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง และหันไปศึกษาเกี่ยวกับคนที่เขาป่วยหรือคนที่เขาเป็นถุงลม(โป่งพอง)เป็นอะไรที่ทรมานมากเลย อย่าคิดว่าเราสูบตอนนี้เราไม่เป็นหรอก วันหนึ่งจะรู้ว่า อาการบุหรี่มันไม่ได้สูบปุ๊บเป็นปั๊บ มันสะสมไปเรื่อยๆๆๆ แต่สาระสำคัญที่สุดอันดับ 1 ก็คือ บุหรี่ ผมยืนยันเลย ทำให้เกิดโรคได้หลายชนิดมากเลย ทั้งมะเร็งปอด ทั้งมะเร็งกล่องเสียง ทั้งระบบทางเดินหายใจ ทั้งระบบทางเดินอาหาร ทั้งกระเพาะอาหาร และเรื่องของเส้นเลือดตีบ และถุงลมโป่งพอง ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่ากลัวทีเดียว ถ้าเรานึกถึงตรงนั้น”

วันนี้ คุณโยธิน ซึ่งเดินมาถึงครึ่งทางแล้วในการเลิกบุหรี่ได้ 5 เดือน เขามั่นใจว่า จะเลิกได้อย่างเด็ดขาดโดยไม่หวนกลับไปหามัจจุราชตัวนี้อีก พร้อมกันนั้น เขาก็ยังเพียรพยายามให้คำแนะนำและเป็นกำลังใจให้คุณพ่อและพี่ชายเลิกบุหรี่ให้ได้เช่นเดียวกัน แม้จะยังไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อย ก็น่าดีใจระดับหนึ่ง เพราะทั้งคู่สามารถลดจำนวนบุหรี่ที่สูบลงได้แล้ว!!

 

ที่มา : www.manager.co.th