ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 มีนาคม 2554 หน้า 3

"ผมไม่รับบัตรประกันสังคมได้มั้ย เพราะบัตรทองผมได้รับยากดภูมิคุ้มกันฟรี"  ...อาติรุตม์  นุตาคม  ผู้ป่วยโรคไตวัย 36 ปี เริ่มต้นบอกถึงสิทธิที่แตกต่างกันระหว่างประกันสังคมและบัตรทอง จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

แม้ว่า ประกันสังคม จะครอบคลุมสิทธิในเรื่อง กองทุนชราภาพ  กองทุนว่างงาน หรืออื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไตที่สูงถึง 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน เขาจึงต้องเลือก "บัตรทอง"  เพราะบัตรประกันสังคมไม่ครอบคลุม แต่บัตรทองให้สิทธิรักษาฟรี

" ผมป่วยเป็นโรคไตมาก่อนที่จะเข้าทำงานและได้บัตรประกันสังคม ทำให้ผมไม่ได้รับสิทธิในการรักษา"  อาติรุตม์ บอกว่า ตามระเบียบของประกันสังคมจะครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยโรคไต ก็ต่อเมื่อตรวจสอบพบว่าป่วยหลังการทำงาน นั่นหมายความอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวัยเรียนของเขา สิทธิประโยชน์ประกันสังคมไม่ครอบคลุมถึงต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด

อาการป่วยของ อาติรุตม์ เริ่มชัดเจนขณะที่เขาเรียนคณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยสยาม เริ่มจากเหนื่อย หอบ เดินขึ้นบันได 5 ชั้น แต่ เหนื่อยมากทั้งๆ ที่เขาเป็นนักกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัย และเริ่มมีปัสสาวะน้อย จนเมื่อไปตรวจจึงพบว่าไตเสีย

" ตอนนี้ผมอายุ 36 ปี ป่วยมานานกว่า 20 ปี ครั้งแรกที่ตรวจพบว่าป่วย ต้องทำเส้นฟอกเลือด  แต่หมอบอกว่าจะทำเส้นชั่วคราวที่คอ ก่อนแล้วหลังจากนั้นค่อยไปทำแบบถาวร  ตอนนั้นไม่มีสิทธิประโยชน์ อะไรเพราะยังเป็นนักศึกษาใช้เงินพ่อกับแม่ดูแลเองทั้งหมดรวมถึง สถานที่ฟอกเลือดเองก็ มีไม่กี่แห่ง ไม่เยอะเหมือนตอนนี้ ถึงมีเงิน ก็อาจจะหาสถานที่ฟอกเลือดไม่ได้"

หลังตรวจพบ โรคไต อาติรุตม์ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไต  ซึ่งขณะนั้นอัตราค่าฟอกไต มีราคาสูงถึง 3,000-4,000 บาทต่อครั้ง โดยในหนึ่งสัปดาห์ เขาต้องฟอกไตประมาณ 2 ครั้ง รวมค่าใช้จ่ายต่อสัปดาห์ในการฟอกไตไม่รวมค่ารักษาอื่นๆ ประมาณ 7,000 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนั้นค่าใช้จ่ายการรักษาครอบครัวต้องแบกรับทั้งหมด

เขาฟอกไตได้ไม่นาน หมอแนะนำให้เขาเปลี่ยนไต โดยได้รับการบริจาคไต จากพี่สาว หลังจากเปลี่ยนไต เขาใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการฟื้นตัว แม้เขาจะสามารถกลับไปเรียนหนังสือได้ จนจบปริญญาตรี แต่ครอบครัวต้องแบกค่าใช้จ่ายจากเดิมต้องฟอกเลือดทุกสัปดาห์เปลี่ยนไปเป็น ค่ายา กดภูมิคุ้มกัน ที่ต้องจ่ายเดือนละ 2-3 หมื่นบาท 

"การผ่าตัดเปลี่ยนไตครั้งแรก เริ่มมีบัตรประกันสังคมแล้ว แต่สิทธิไม่ครอบคลุมโรคนี้ ประกันสังคมไม่จ่าย ค่าตรวจ ค่าฟอกไต และค่ายากดภูมิ เดือนประมาณ 3-4 หมื่นบาท "

หลังจากเปลี่ยนไตครั้งแรก  เขาเริ่มวางอนาคต เหมือนคนอื่นๆ อยากทำงานในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล  ต้องพัฒนาตัวในอาชีพที่เรียนมา แต่ เมื่อเริ่มต้นทำงานสิ่งที่เขาเรียกร้อง ไม่ใช่เงินเดือนจำนวนมากอย่างคนอื่น แต่ เขาต้องการเพียง คงการใช้สิทธิบัตรทอง เพราะประกันสังคมไม่ให้สิทธิในการรักษา โรคไต

" ความฝันของผมจบลงเพราะไม่สามารถทำงานประจำได้เลย เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว ต้องถือสิทธิบัตรประกันสังคมทันที่ แต่สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมโรคไต ผมจึงเลือกทำงานแบบชั่วคราวไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถถือบัตรทองได้"

อาติรุตม์ บอกว่า ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเงินเดือนกับค่ารักษาพยาบาล ที่ต้องแบกรับเดือนละ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งทุกครั้งเขาก็ต้องเลือกบัตรทอง เพราะเงินเดือนเริ่มต้นในการงานที่ไม่ถึง 2 หมื่นบาท ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเขาอยู่รอดได้  ไม่พอแม้กระทั่งค่ายากดภูมิคุ้มกันที่ต้องจ่ายเอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำที่ต้องแบกรับ

"   ถือว่าเป็นการบังคับทางอ้อม เพราะว่า ผมเลือกที่จะใช้บัตรทอง เนื่องจากบัตรประกันสังคมไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ ค่ายากดภูมิ ไม่ได้จ่าย ค่าตรวจ  ตอนนั้นแต่ประกันสังคมไม่ได้เลย แม้กระทั่งบางครั้ง ผู้ที่บัตรประกันสังคม แต่ป่วยเป็นโรคไตมาก่อน แต่เกิดเป็นโรคท้องเสียรุนแรง หากตรวจพบว่า เนื่องจากโรคไตก็เบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้อีกเหมือนกัน"

หลังการเปลี่ยนไตรอบแรกผ่านไป 10 ปี ไตเริ่มเสื่อมอีกครั้งหนึ่ง และเขาต้องเปลี่ยนไตรอบสอง ซึ่งครั้งนี้เขาต้องรอไตบริจาค นาน 5 ปี และเริ่มเข้าสู่วงจรเดิม ด้วยการฟอกไตอีกรอบหนึ่ง

" ตอนเริ่มมาฟอกไตรอบสอง ผมเวียนไปหาที่ฟอกไตราคาไม่แพงหลายแห่งในกรุงเทพฯ บางแห่ง 1,000 บาท หรือ 1,500 บาทบ้าง มาเป็น 800 บาท หาที่ฟอกไตที่เขาลดราคาไปเรื่อยๆ ฟอกเลือดอยู่ 5 ปี ก็ได้ไตบริจาคและเปลี่ยนไตใหม่ในช่วงปีใหม่ 2553"

หลังจากได้ไตใหม่รอบที่ 2  อาติรุตม์ เริ่มมีความหวังในอาชีพอีกครั้งหนึ่ง เขาเริ่มทำงาน แต่มีเงื่อนไขเดิม คือ ขอไม่รับบัตรประกันสังคม  ทำให้เขาต้องเวียนทำงานง่ายๆ แบบชั่วคราว ไม่ต่างจากเดิม แต่เขาอยากมีชีวิต เหมือนคนทั่วไป  อยากเติบโตในสายงานอาชีพที่เรียนมา แต่ทำไม่ได้ เพราะว่าเงินเดือนที่ได้รับไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการักษาพยาบาลตัวเอง

"หลายคนผู้ป่วยโรคไตที่เจอแบบผมและอยากทำงานประจำ อยากได้สิทธิอื่นๆ ในประกันสังคม แต่ทำไม่ได้ เพราะค่าตรวจเลือดประมาณ 1,000 บาท ค่ากดภูมิประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน ตอนนี้บัตรทองจ่ายให้หมดเลย ผมไม่ต้องเจ็บตัว  ไม่ต้องควักรายจ่ายของตัวเอง  ผมต้องทำงานชั่วคราว รับจ้างไปเรื่อยๆ หมดงานหมดอายุต้องไปหางานใหม่ทำ ต้องเรียนรู้งานใหม่อีก ไปเรื่อยๆ"

อาติรุตม์ บอกว่า อยากเหมือนคนอื่นทั่วไปในการทำงาน  แต่ผมต้องเลือกสิทธิ์การรักษาพยาบาล แต่ต้องขาดสิทธิ์ไปหลายอย่าง ความก้าวหน้า ถ้ายึดอาชีพวิศวกร คงก้าวหน้ามากกว่านี้ ไม่ต้องมาเร่ร่อนไปเรื่อยๆ เพราะต้องการบัตรทอง เนื่องจากประกันสังคมจะดูแลผู้ป่วยโรคนี้หลังจากที่ทำงานและมีบัตรประกันสังคมแล้ว แต่ป่วยก่อนทำงานไม่ครอบคลุมถึง ซึ่งผมคิดว่าเป็นช่องโหว่ที่ต้องแก้ไข

ด้วยเหตุผลและช่องโหว่ของกฎหมายทำให้ สุบิน นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย  ระบุว่าในสัปดาห์หน้าจะเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อขอให้มีการปรับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตที่ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคไตก่อนเข้าทำงานและต้องเข้าใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม

ผู้ป่วยโรคไตบางส่วนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่สุขภาพดีขึ้นและสามารถทำงานเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวได้ แต่ติดปัญหาเนื่องจากหากโอนย้ายสิทธิรักษาพยาบาลเข้าสู่ระบบประกันสังคม จะไม่สามารถปลูกถ่ายไตหรือเบิกจ่ายยากดภูมิต้านทานได้ เพราะระบบประกันสังคมให้สิทธิแต่เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหลังจากเข้าสมัครเป็นผู้ประกันตนแล้วเท่านั้น

“มีผู้ป่วยโรคไตร่วม 20 คน มาร้องเรียนกับเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต มีทั้งที่เป็นครูอัตราจ้าง วิศวกร และ บุคคลทั่วไป ที่อยากเข้าทำงาน แต่ก็ติดปัญหาตรงที่หาเข้าระบบประกันสังคม จะต้องจ่ายค่ายากดภูมิต้านทานเอง ซึ่งมีราคาแพงมาก โดยเดือนแรกหลังจากปลูกถ่ายไตต้องจ่ายค่ายา 30,000 บาท เดือนที่ 2 อยู่ที่ 20,000-25,000 บาท และเดือนถัดไปอยูที่ 15,000 บาท ขณะที่เงินเดือนที่ได้รับ หากเป็นวิศวกรอยู่ที่ 20,000 บาท ส่วนเงินเดือนครูอัตราจ้างน้อยมาก ทำให้หลายคนจึงไม่ได้ทำงาน และเลือกอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป”

จึงถึงเวลาแล้วที่ประกันสังคมต้องหันมาทบทวนตัวเองกับการดูแลสิทธิในการรักษาพยาบาล ที่ครอบคลุมประโยชน์สูงสุด