ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 ธันวาคม 2554

ชื่อบทความนี้ดูแล้วอาจแปลกๆไปนิด ว่ามันจะเกี่ยวอะไรกันกับ 10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กว่า 1 ปี ที่ได้ติดตามการทำงานด้านการแพทย์ของระบบประกันสังคม ก็พบว่าทั้ง 3 เรื่องนั้นมีความสัมพันธ์และเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน ดังนี้

10 ล้านคน คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นพลเมืองชั้นสองเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวจากคนไทย 65 ล้านคน ที่ยังต้องเสียสองต่อในการรักษาพยาบาล คือ เสียภาษีเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และยังต้องเสียค่ารักษาสุขภาพของตนเองผ่านระบบประกันสังคม จึงถือได้ว่า 10 ล้านคน เป็นพลเมืองชั้นสอง ในด้านการรักษาพยาบาล รองจาก ข้าราชการ ผู้ถือบัตรทอง และหากเปรียบเทียบกับท่าน สส. สว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ยิ่งต้องช้ำใจ เพราะท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ต่างกับ 10 ล้านคน ราวกับรถเฟอรารี่กับรถอีแต๋น ก็ว่าได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แม้มีความพยายามในการเรียกร้องสิทธิให้กับคน 10 ล้านคน มาเกือบ 1 ปี แต่ดูจะไม่เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ประกันตน 10 ล้านคนกลุ่มนี้ ยังต้องจ่ายเงินเอง เหมือนกับพวกเขาไม่ใช่คนไทย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของ สส. สว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ที่อ้างตัวว่ามารับใช้พี่น้องประชาชน ต้องรับผิดชอบดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของคน 10 ล้านคน แต่กลับไม่ทำอะไรเลย แถมยังขึ้นค่ารักษาพยาบาล เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ตัวเอง ทำให้คน 10 ล้านคน พลเมืองชั้นสอง เจ็บใจเล่น

หมอ 2 คน เชื่อไหมว่า บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์มีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบด้านการแพทย์ ในสำนักงานประกันสังคม ของคน 10 ล้านคน ในปัจจุบันมีหมอเพียง 2 คน คนแรก คือ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นประธานบอร์ดประกันสังคม และคนที่สองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานก็มีแค่ 20 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่มีพื้นฐานด้านการแพทย์และประกันสุขภาพ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องออกแบบ สิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงิน ตรวจสอบ ติดตาม คุณภาพ หน่วยบริการ เพื่อดูแลผู้ประกันตน จึงไม่มีทางที่จะทำให้ได้ดี เพราะแค่ตามจ่ายเงินให้หน่วยบริการทั่วประเทศให้ตรงเวลาก็แย่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าลำพังหมอ 2 คน กับเจ้าหน้าที่เพียง 20 คน ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ประกันตน 10 ล้านคนได้แน่นอน ประเด็นที่สำคัญที่ทราบมาก็คือ บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บริหารส่วนใหญ่ในสำนักงานประกันสังคมเองก็เบื่อเต็มที ไม่ได้อยากดูแลด้านการแพทย์ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ อยากจะยกภาระหน้าที่นี้ให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แต่กลับไปติดอยู่ที่ผู้บริหารบางคนที่ยังมีความดันทุรังสูง อาจจะด้วยเหตุผลความอยากเอาชนะหรือไม่ก็ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เราๆท่านๆอาจมองไม่เห็น

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีการแพทย์ของประกันสังคมก็ดูไม่ต่างจากกรณีน้ำท่วมเท่าไหร่ ที่คนในรัฐบาลต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของรัฐมนตรีแถวสาม เพราะการที่รัฐบาลปล่อยให้สำนักงานประกันสังคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาแถลงอย่างน่าชื่นตาบานเพราะคิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ว่าจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการ 1 RW = 15,000 บาท มากกว่า ข้าราชการและบัตรทองที่ 1 RW = 12,000 และ 9,000 บาท ตามลำดับ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลบัตรทองก็ไม่รู้เรื่องว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อบัตรทอง เพราะการจ่ายเงินแบบนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อบัตรทองและเพิ่มภาระงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการทันที ดังนี้ 1) ผู้ป่วยภายใต้บัตรทองจะกลายเป็นผู้ป่วยอนาถาทันที ไม่มีโรงพยาบาลไหนทั้งรัฐบาลและเอกชนอยากดูแล เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมาก มีค่าใช้จ่ายสูง รัฐบาลกลับจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้น้อยกว่าสิทธิอื่นๆ 2) ภาพรวมของระบบสุขภาพจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทันที และจะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ที่รัฐบาลเพิ่งตัดลง 10% อีกอย่างน้อย 30,000 ล้านบาท ต่อปี และยังต้องรวมของข้าราชการที่เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น กว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี 3) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเอกชนทั้งหลายที่สามารถเลือกได้ก็จะไม่ยอมเข้าร่วมบัตรทอง รอรับดูแลเฉพาะประกันสังคมและข้าราชการดีกว่า

ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หวังจะเห็นโครงการบัตรทองมีคุณภาพมากขึ้นนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากสถานการณ์ข้างต้น รวมถึงความเคลื่อนไหวหลายประการในแวดวงบัตรทอง ณ เวลานี้ ก็สะท้อนถึงความรู้ไม่เท่าทันกลเกมต่างๆที่การเมืองมีต่อขั้วอำนาจทั้งหลายในแวดวงสาธารณสุข หากการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายกุมนโยบายไม่ทันเกม ทั้งยังไม่ตระหนักถึงความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่รัฐบาลไทยรักไทยเป็นผู้ทำคลอดจากข้อเสนอที่เคลื่อนไหวมายาวนานของภาคประชาชน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีกลุ่มการเมืองใดกล้าพอที่จะยอมรับกับข้อเสนอนี้ ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ในที่สุดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็น โครงการที่พรรคเพื่อไทยเขียนด้วยมือและลบด้วยเท้าในไม่ช้า