ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โดย ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 หน้า A6

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบประกันสุขภาพ คือกำแพงสูงทะมึนที่ภาคประชาชนในฐานะตัวแทนของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมหวังทลายให้ล้มครืน

"โพสต์ทูเดย์" สัมภาษณ์พิเศษ นิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ผู้ซึ่งเชื่อมั่นว่า หากเมื่อใดที่ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน รวมพลังลุกขึ้นสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม เมื่อนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมไม่มีสิทธิที่จะบ่ายเบี่ยงหรือหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ มองกลไกการทำงานของคณะกรรมการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ระหว่างประกันสังคมกับบัตรทอง ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตั้งขึ้นอย่างไร

เป็นเรื่องดีที่ สปส.ตื่นตัวมาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกันตน แต่สิ่งสำคัญที่ สปส.ต้องตอบคำถามคือ ทำไมผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน ยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขณะที่คนไทยที่เหลืออีก 55 ล้านคนไม่ต้องจ่าย คำถามที่ตามมาคือการตั้งคณะกรรมการชุดนี้แก้ไขปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่ เพราะปัญหาสำคัญที่สุดตอนนี้คือความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ประกันตนกลายเป็นพลเมืองชั้นสองทำไมวันนี้ สปส.ไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาว่า หากผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว เงินที่เหลือกว่า2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี จะสามารถนำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างไร เช่น บำนาญชราภาพจาก 3,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 บาทต่อเดือน ได้หรือไม่

ขณะนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม กำลังแก้ไขอยู่ในวาระ 2 ของรัฐสภา และภาคประชาชนได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการแล้ว นั่นเพราะเชื่อมั่นว่าช่องทางนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้?

การแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ในสิ่งที่เป็นประเด็นหลัก คือเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกันตนต้องจ่าย แต่กลับไปในประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ อาทิ การแยกประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระ การย้ายคู่สมรสและบุตรกว่า 5 ล้านคน ไปอยู่กับประกันสังคม ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกันส่วนตัวจึงไม่ได้คาดหวังกับช่องทางนี้

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีชัดเจนว่า ต้องการแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนเลือกได้ว่าจะใช้ระบบใด แต่เหตุใดท่าทีของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจึงยังไม่ชัดเจน

ส่วนตัวเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเลือกหลักประกันสุขภาพ เพราะผู้ประกันตนจะใช้วิจารณญาณเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเขาเอง ส่วนท่าทีของ รมว.สาธารณสุข และ รมว.แรงงาน ผมคิดว่าท่านอาจไม่เข้าใจประเด็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบประกันสุขภาพเวลานี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำของคน 9.4 ล้านคน นี่จึงเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์

ผู้นำแรงงานบางรายยังต้องการจ่ายเบี้ยประกันแก่ประกันสังคม และคัดค้านการใช้บัตรทอง

สิ่งที่เราพูดกันเวลานี้เป็นข้อมูลใหม่ทั้งหมด จึงต้องให้เวลาแก่ผู้นำและผู้ประกันตนพิจารณาข้อมูลใหม่ ในเมื่อเขาเหล่านั้นอยู่ในระบบประกันสังคมมากว่า 20 ปี ก็ไม่แปลกที่จะเข้าใจมาโดยตลอดว่าประกันสังคมดีกว่าบัตรทอง แต่คำถามคือ สิ่งที่เขาเข้าใจนั้นถูกหรือไม่ เพราะมีบางข้อมูลที่ผู้ประกันตนยังเข้าใจผิด เช่น บัตรทองใช้กับโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 260 แห่งอยู่ในระบบบัตรทอง ที่สำคัญรัฐบาลต้องแสดงความสามารถในการบริหารให้ผู้ประกันตนยังใช้โรงพยาบาลเอกชนได้เหมือนเดิมเมื่อผู้ประกันตนย้ายไปอยู่กับบัตรทอง

ผมยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด เพราะเมื่อใดที่ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน พูดเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อนั้นทุกพรรคการเมืองที่พร้อมจะเลือกตั้ง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับฟังและปฏิบัติตาม