ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มีให้เห็นไม่บ่อยครั้งนักสำหรับความร่วมมือที่มากกว่าด้านวิชาการระหว่างสองหน่วยงานด้านการแพทย์ชั้นนำของไทยอย่างโรงพยาบาล การเดินหน้าสู่เส้นทางความร่วมมือในแบบ Partnership Strategy เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ เหลือเพียงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานการทำงานของทั้งสองฝ่าย

อะไรเป็นจุดเริ่มของการจับมือกันครั้งนี้เพื่อเดินไปข้างหน้า ที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์  (Win-Win) 

รพ.รามาธิบดี ขึ้นชื่ออยู่ในท็อปแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำระดับประเทศที่โฟกัสตัวเองไว้ชัดกับการพัฒนาด้านงานวิชาการและการพัฒนาบุคลากรขณะที่ รพ.หัวเฉียว มุ่งให้บริการด้านการแพทย์กับกลุ่มคนระดับล่างและระดับกลาง

ทั้งสองหน่วยงานมองตรงกันที่เป้าหมายของการยกระดับและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งกรอบความร่วมมือจะครอบคลุมระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ ปี 2555-2558 โดยมีขอบเขตความร่วมมือใน 2 ด้าน

ด้านบริการและการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ ทาง รพ.รามาธิบดี จะเป็นผู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้อาจารย์แพทย์มาออกตรวจ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่ รพ.หัวเฉียว
นอกจากนี้ ความเป็นพันธมิตรที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง และรับเป็นโรงพยาบาลส่งต่อการรักษา 

ขณะที่ รพ.หัวเฉียว จะให้บริการด้านห้องพัก ห้องผ่าตัด ในกรณีที่ รพ.รามาธิบดี มีอัตราการใช้เตียงเต็ม หรือ บริการอื่นๆ ที่ต้องให้ผู้ช่วยใช้เวลาในการรอคอยเป็นระยะเวลานาน
หนึ่งในสองด้านหลักที่เหลือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร โดย รพ.รามาธิบดี จะเป็นผู้สนับสนุนด้านงานประชุมทางวิชาการ การฝึกอบรมเฉพาะทางต่างๆ ขณะที่ รพ.หัวเฉียว จะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานของแพทย์ฝึกหัด นักศึกษาแพทย์  และนักศึกษาพยาบาลของ รพ.รามาธิบดี

สองประสานที่เกิดขึ้น กอบชัย ซอโสตถิกุล ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลหัวเฉียว และกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เปิดเผยว่า เป็นประโยชน์ที่เกิดกับทั้งสองฝ่าย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะมีการพัฒนาความรู้ความสามารถ และสร้างความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้น 

"เรียกว่า เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน" ศาสตราจารย์นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะศักยภาพของ รพ.รามาธิบดี ที่มีอยู่เดิมกับความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงมีเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของรัฐ   

อีกด้านเป็นการเชื่อมโยงเพื่อเสริมในจุดที่ยังขาด โดย รพ.รามาธิบดี มองถึงการพัฒนาแพทย์ทางเลือกให้มากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์แผนตะวันออก ซึ่งทาง รพ.หัวเฉียว มีความถนัดทางด้านนี้ ทำให้การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นสิ่งที่มาเสริมซึ่งกันและกัน

กระแสสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงภาวะขาดแคลนแพทย์ และพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาล ที่สองผู้บริหารจากสองโรงพยาบาลมองเห็นตรงกันว่า ต้องเร่งสร้าง ขณะเดียวกันก็ "รักษา" เอาไว้ให้ได้

การสร้างบุคลากร เป็นสิ่งที่แต่ละฝ่ายทำอยู่เดิม และจะยิ่งเข้มข้นขึ้นภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ในมุมของการรักษาคนเอาไว้ในระบบ ทั้งสองผู้บริหาร เล็งเห็นว่า ค่าตอบแทน อาจจะเป็นสิ่งที่แข่งขันได้ยากเมื่อเทียบกับ รพ.เอกชนชื่อดัง แต่สวัสดิการที่เสริมเข้าไป อาทิ ที่พัก ความก้าวหน้าในสายอาชีพ การอบรมและพัฒนา ฯลฯ จะเป็นอีกตัวช่วยที่ดึงคนเก่งเอาไว้ 

กรณีของการบริหารงานแบบพันธมิตร ทำให้เกิดการรวมและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Share resources) ทั้งบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี งบประมาณ ฯลฯ ที่แต่ละองค์กรครอบครองไว้มาใช้ร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีที่สุด 

การร่วมมือของสององค์กร นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายแล้ว อีกด้านยังเพื่อรับมือกับโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายกว่า ทั้งภาวะขาดแคลนบุคลากรที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น รวมถึงการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนที่เตรียมเปิดฉากในปี 2558

'เป็นประโยชน์ที่เกิดกับทั้งสองฝ่าย โดยบุคลากรทางการแพทย์จะมีการพัฒนาความรู้ความสามารถและสร้างความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้น'

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 3 มิ.ย.55