ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนิสัยการบริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่ประชาชนเริ่มหันมา กินอาหารแบบตามใจปากกันมากขึ้น ประกอบกับความเร่งรีบของการทำงานในแต่ละวัน ทำให้ "อาหารจานด่วน" กลายเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของแต่ละมื้อ หารู้ไม่ว่าในแต่ละจานให้พลังงานสูงมาก ยกตัวอย่าง ข้าวหมกไก่ 685 กิโลแคลอรี หากจะเผาผลาญให้หมดต้องวิ่งเหยาะๆ 83 นาที หรือเดินเร็ว 214 นาที หรือทำงานบ้าน 298 นาที ดังนั้นหากบริโภคเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการเผาผลาญด้วยการออกกำลังกายร่วมด้วย ไม่เช่นนั้น...ไขมันจะสะสมจนเป็นโรคอ้วนอันที่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรคเรื้อรังหลายชนิด

เครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดเผยข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนคนอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และในปี 2551 คนทั่วโลกอายุ 20 ปีขึ้นไป ประมาณ 1,500 ล้านคน มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ชาย 200 ล้านคน และผู้หญิงเกือบ 300 ล้านคน เป็นโรคอ้วน ที่สำคัญคนที่อ้วนลงพุง นอกจากจะมีปัญหาภาวะอารมณ์และจิตใจแล้ว ยังมีโอกาสประสบปัญหาสุขภาพได้หลายโรค อาทิ เบาหวาน ระบบหายใจ ไขข้อ ระบบสืบพันธุ์ ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง มะเร็ง ทางเดินน้ำดี ไขมันเกาะตับ เป็นต้น

"มหานครแห่งสุขภาพ" จึงเป็นเป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและบรรเทาโรคทั้งหลายที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ โดยนำร่องโครงการใน 4 เขต ได้แก่ บางรัก ราชเทวี หนองแขม และภาษีเจริญ จากนั้นขยายผลไปจนครบ 50 เขต

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. บอกว่า กทม.มีนโยบายให้สำนักการแพทย์พัฒนาสุขภาพและเสริมสร้างความรู้ทางโภชนาการให้แก่คนกรุงเทพฯ ให้สามารถเลือกบริโภคอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และกระตุ้นให้ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยปลูกฝังในทุกกลุ่มของสังคม และออกแบบโมเดลพื้นที่สุขภาวะของประชาชน ได้แก่

1.โมเดลโรงเรียน สถาบันการศึกษาไร้พุงส่งเสริมสุขภาพ เช่น เพิ่มชั่วโมงออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ การแข่งขันกีฬาเพื่อสุขภาพ จัดทำโครงการโภชนาการสมวัยและเด็กไทยไม่กินหวาน ในการดูแลเรื่องการขายอาหารและเครื่องดื่มในโรงเรียนและพื้นที่ใกล้เคียง

2.โมเดลร้านอาหาร ภัตตาคารส่งเสริมสุขภาพ ผลักดันในเรื่องอาหารปลอดภัยและชูสุขภาพ โดยมีเมนูอาหารพลังงานต่ำแนะนำให้ประชาชนบริโภคเป็นทางเลือก

3.โมเดลห้างสรรพสินค้าส่งเสริมสุขภาพ มีการจัดมุมจำหน่ายอาหารพลังงานต่ำ สินค้าส่งเสริมการออกกำลังกาย กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายและจัดลานอเนกประสงค์ไว้ส่งเสริมการออกกำลังกายในชุมชน

4.โมเดลสถานประกอบการภาคเอกชนส่งเสริมสุขภาพ ผลักดันให้เกิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สำคัญ อาทิ เปลี่ยนจากคอฟฟี่เบรก เป็น เอ็กเซอร์ไซส์เบรก การรณรงค์กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยรณรงค์ร่วมกับโครงการ Happy Workplace ของ สสส.

5.โมเดลหน่วยงานราชการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ผลักดันให้หน่วยราชการในพื้นที่เป็นต้นแบบองค์กรส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน ผลักดันให้โรงอาหาร ร้านอาหารในหน่วยงาน เป็นต้นแบบโรงอาหาร ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ

6.โมเดลลานกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น รณรงค์การใช้พื้นที่สาธารณะ อาทิ สวนสาธารณะ ลานกีฬา ลานกิจกรรมชุมชน ลานวัด เป็นต้น ในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยชักชวนภาคีเครือข่ายด้านการออกกำลังกาย นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หมุนเวียนจัดกิจกรรมหรือรับสมัครสมาชิกร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เป้าหมายคือ ผลักดันให้เกิดกฎระเบียบรองรับ อาทิ การออกเทศบัญญัติให้โรงเรียนและหน่วยงานราชการในสังกัด กทม. เป็นต้นแบบให้ภาคเอกชนนำไปปฏิบัติตาม
หากทำได้ในอนาคตกรุงเทพฯจะเป็นเมืองหลวงที่มีแต่ประชาชนสุขภาพดี