ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข ให้แรงงานต่างด้าวทุกคน ซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน ทั้งที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และนอกภาคอุตสาหกรรม เช่น ประมง กรรมกร งานบ้าน เลี้ยงสัตว์ ซื้อประกันสุขภาพ ครอบคลุมทั้งการดูแลเมื่อเจ็บป่วย การส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ในอัตราคนละ 1,300บาทต่อปี

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้แรงงานหลบหนีเข้าเมือง ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการตรวจสุขภาพให้แรงงานดังกล่าว หลังจากนั้น แรงงานต่างด้าวจะต้องเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ 2 กลุ่ม คือ 1.ประกันสังคมในผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับคนไทยที่ประกันตน

กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่ไม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในภาคประมง เกษตรกรรม กรรมกร เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ งานบ้าน รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะให้การดูแลให้มีหลักประกันหลักประกันสุขภาพทุกคน โดยให้ทุกคนซื้อบัตรประกันสุขภาพ ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วยเช่นเดียวกับคนไทย ซึ่งจะมีผลดีในการป้องกันโรคติดต่อที่มากับต่างด้าวได้ด้วย และในกรณีที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตร เด็กที่เกิดมาจะต้องซื้อหลักประกันสุขภาพด้วย และจะได้รับการดูแล เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่นเดียวกับเด็กไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในการเปิดประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการด้านสังคมและคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยมีผลสรุปว่า จะตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวทุกคน ซึ่งมี 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองรอพิสูจน์สัญชาติ ที่มีอยู่ 886,507 คน 2.กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 193,240 คน และ3.กลุ่มที่นำเข้าตามข้อบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาล ซึ่งเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายและมีหนังสือเดินทาง โดยต่างด้าวทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพคัดกรองโรคที่ห้ามในการทำงาน เช่น ติดสารเสพติด หรือโรควัณโรค ซิฟิลิส โรคเท้าช้างในระยะติดต่ออันตราย เพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรค โดยจะมีการตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ในอัตราคนละ 600 บาท และเฉพาะคนที่มีสัญชาติพม่าจะได้รับยาฆ่าเชื้อโรคเท้าช้างทุกคน ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในกลุ่มแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น กรรมกร รับจ้างภาคเกษตร ประมง งานบ้าน ให้ซื้อหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในอัตรา 1,300 ต่อคนต่อปีทุกคน รวมทั้งผู้ติดตามด้วย ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกันโรค ส่วนผู้ที่รอเข้าสู่ระบบของประกันสังคม ให้ซื้อหลักประกันสุขภาพชั่วคราวในอัตราคนละ 650 บาท คุ้มครองสิทธิได้ 6 เดือน ตั้งแต่ 15 มิถุนายน - 15 ธันวาคม 2555 โดยให้ซื้อประกันสุขภาพได้ที่สถานบริการที่เข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ของกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดที่แรงงานทำงานอยู่เท่านั้น และในอนาคตจะปรับปรุงมาตรการและสิทธิประโยชน์หลักประกันต่างด้าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น