ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไทยรัฐ 5 มิ.ย.55-ยาปฏิชีวนะ ยาต้านจุลชีพ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบในความหมายที่แต่ละคนต่างเรียกขานและเข้าใจกันไปคนละทาง แท้จริงแล้วก็คือยาประเภทเดียวกัน แต่ถูกเรียกชื่อและใช้กันอย่างสับสน จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกของวงการยา ที่มาของ “เชื้อดื้อยา” ที่รักษาไม่หาย มีแต่ตายสถานเดียว

ยกตัวอย่าง Amoxicillin ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ หรือ Antibiotic ตัวหนึ่ง ซึ่งมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน บุคลากรการแพทย์ในสถานพยาบาลทั่วไป มักจะเรียกยาตัวนี้และสื่อสารกับคนไข้ว่าเป็น “ยาฆ่าเชื้อ”

แต่ตามคลินิกและร้านขายยาส่วนใหญ่ มักจะเรียกยาตัวนี้และสื่อกับคนไข้ว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” ทำให้เกิดการหลงเข้าใจผิดว่า Amoxicillin สามารถรักษาการอักเสบได้ทุกชนิด นั่นคือ ต้นตอแห่งความสับสนแรก

นอกจากจะเรียกชื่อยาต่างกัน ปัญหาถัดมายังพบว่า ในเมืองไทยมักจะมีการจ่ายยาปฏิชีวนะหลายชนิดให้แก่คนไข้อย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือจ่ายให้มากเกินความจำเป็น จนเป็นต้นเหตุของปัญหา การดื้อยา (ไม่มียาชนิดใดจะรักษาได้) และมีคนไข้ตายเพราะการดื้อยาปีละเป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์นายแพทย์วิษณุ ธรรมลิขิตกุล อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะ) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) บอกว่าเมื่อครั้งที่โลกยังไม่มียาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะใช้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตแทบทุกรายต่อมาเมื่อเริ่มมีการคิดค้นและสามารถผลิตยาต้านจุลชีพขึ้นมาใช้ ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านจุลชีพมักหายขาดจากการติดเชื้อ ทำให้ยาต้านจุลชีพกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์

 “ตอนปี พ.ศ. 2485 ทั่วโลกมียาต้านจุลชีพใช้อยู่ไม่กี่ชนิด เช่น penicillin, streptomycin, sulfonamide ยุคนั้นยาต้านจุลชีพได้รับการขนานนามว่าเป็นยาปาฏิหาริย์ เพราะทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากรอดตายจากการติดเชื้อ ยุคนั้นองค์กรวิชาชีพหลายแห่งถึงกับประกาศว่า การมียาต้านจุลชีพและวัคซีนใช้ จะทำให้สามารถควบคุมโรคติดเชื้อได้ และโรคติดเชื้อจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกต่อไป” นพ.วิษณุ ลำดับเหตุการณ์

เขาบอกว่า แต่ในอีก 40 ปีต่อมา หรือราว ปี 2525 มนุษย์ได้ค้นพบและผลิตยาต้านจุลชีพขึ้นเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียาต้านจุลชีพรวมหลายสิบกลุ่ม มากกว่า 100 ขนาน

แต่นับจาก พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา การผลิตยาต้านจุลชีพชนิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านแบคทีเรีย ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับมีจำนวนลดลงอย่างมาก จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2549-2553 เหลืออยู่เพียง 2 ขนานเท่านั้น ทั้งนี้ เกิดจากสาเหตุหลายประการ

เช่น การค้นพบยาขนานใหม่เป็นไปได้ยากมาก และต้องใช้ทุนค้นคว้าวิจัยมหาศาล เพราะที่ผ่านมามนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นยาต้านจุลชีพที่พัฒนาได้ง่ายไปหมดแล้ว บริษัทยาเอกชนหลายแห่งเริ่มไม่สนใจวิจัยและพัฒนายาต้านแบคทีเรีย เพราะยาเหล่านี้มีอายุการใช้งานไม่นาน ก็จะเกิดการดื้อยา จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ในที่สุด มนุษย์ยุคปี ค.ศ. 2012 ทั่วโลกจึงตกอยู่ในภาวะขาดยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ให้ผลดีและปลอดภัยในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดกรัมลบ ซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกขนานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่น่าเป็นห่วงก็คือ เชื้อเหล่านี้กำลังมีความชุกมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็น Carbapenem-Resistant Enterobacteriaceae, Extreme-Drug-Resistant Pseudomonas aeruginosa, Extreme-Drug-Resistant Acinetobacter baumannii จึงเป็นเหตุให้ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น ยาในกลุ่ม Carbapenems มีราคาแพงกว่าทองคำ

คุณหมอวิษณุ บอกว่า โรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะกำลังกลายเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญทั่วโลก เพราะเป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่มีอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิดไม่มียารักษา และทำให้ต้องเสียชีวิต สถานการณ์เริ่มกลับไปรุนแรงเหมือนเมื่อยุค 80 ก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะใช้

“แต่ละปีคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 1 แสนราย ทำให้ต้องเสียชีวิตมากกว่า 3 หมื่นคน และยังส่งผลให้ประเทศชาติเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคในประเทศไทยเกิดการดื้อยาอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นอย่างกว้างขวาง ทั้งโดยแพทย์ที่จ่ายยาให้ประชาชน และจากการที่ประชาชนไปหาซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามร้านขายยา ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าครึ่ง เป็นการใช้ยามากเกินจำเป็น จึงทำให้เชื้อโรคจำนวนมากในประเทศไทยดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข (สวรส.) ให้ความเห็นว่า แนวทางที่จะใช้ควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะที่ได้ผล ต้องอาศัยมาตรการที่สำคัญหลายอย่าง

1. สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด เช่น แนะนำและหาทางให้ผู้ที่ไปโรงพยาบาลล้างมือ ทำความสะอาดร่างกาย และใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด

2. สถานพยาบาลทุกแห่งต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและอนุมัติการสั่งจ่ายใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อจะได้ยืดระยะเวลาในการใช้ยาชนิดนั้นได้นานขึ้น

3. บุคลากรสาธารณสุขต้องให้บริการผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล

4. สังคมต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องและตระหนักต่อปัญหาเชื้อดื้อยา

5. ควรมีการจำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะตามร้านขายยา

6. ต้องงดใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีที่เป็นยาปฏิชีวนะแก่สัตว์ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร เช่น ไม่ใช้ Salbultamol เป็นสารเร่งเนื้อแดงในหมู หรือไม่ควรผสมยาปฏิชีวนะบางตำรับที่ใช้กับคนลงไปในอาหารสัตว์ เป็นต้น

นพ.สุวิทย์บอกว่า แม้ทุกวันนี้หลายฝ่ายพยายามช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาการดื้อยาก็ตาม แต่เป็นเพราะว่า เรี่ยวแรงที่ทำยังแรงไม่พอหรือทำกันแบบลักษณะต่างคนต่างทำ จึงทำให้เชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะยังคงเป็นปัญหาที่แพร่หลาย

เขาเห็นว่าควรต้องมีกลไกบางอย่างที่มีประสิทธิภาพ ไปกระตุ้นให้เกิดความร่วมแรงกันทำที่มากพอ และมีการเชื่อมโยงทำพร้อมกันทั้งประเทศ โดยมีผู้นำทำหน้าที่ชี้เป้าให้ชัด

 “ต้องใช้กลยุทธ์แบบฝูงหมาป่าจัดการกับสิงโตเท่านั้น นั่นคือ ต้องมีการชี้เป้าให้ชัด กัดไม่ปล่อย แล้วช่วยกันรุมกัด ไม่ใช่ต่างคนต่างกัด เดี๋ยวจะกลายเป็นโดนสิงโตขย้ำแทน แต่ถ้าบุคลากรสาธารณสุขทุกคนช่วยกันกัดไม่ปล่อยแบบฝูงหมาป่าเข้าโจมตีสิงโต เรื่องนี้ต้องสำเร็จแน่”