ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ยากลุ่มที่เป็นปัญหาแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ ตัวยาคือ เมทแอมเฟตามีน สารเสพติดตัวนี้ผลิตค่อนข้างง่าย กล่าวคือ

1) สารตั้งต้นที่นำมาใช้ผลิตหาได้ไม่ยากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเฮโรอีน

2) กรรมวิธีการผลิตก็ค่อนข้างง่ายไม่ต้องลงทุนมาก

สารตั้งต้นที่นำมาผลิตยาบ้า-ยาไอซ์ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน คือ ซูโดอีเฟดรีน เพราะลักษณะโครงสร้างโมเลกุลใกล้เคียงกัน กระบวนการผลิตจึงค่อนข้างง่ายในการเปลี่ยนซูโดอีเฟดรีนเป็นเมทแอมเฟตามีน

นอกจากซูโดอีเฟดรีน ยังมีสารเคมีอีกหลายตัวที่สามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเมทแอมเฟตามีนปรากฏรายชื่อตามบัญชีหมายเลข 1 ท้าย "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษ และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2531"ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้เมื่อวันที่3 พ.ค. 2545

ในกระบวนการผลิตสารเสพติดนี้ ยังมีสารเคมีตัวอื่นที่จำเป็นต้องนำไปใช้ร่วมปรากฏตามบัญชี2 ท้ายอนุสัญญาดังกล่าว ได้แก่ อะซีโตน เอทิลอีเทอร์ กรดเกลือ กรดกำมะถัน กรดฟีนิลแอซีติกและโทลูอีน (ที่เกิดไฟไหม้โรงงานที่ระยองเมื่อต้นเดือน พ.ค.นี้)

สารเคมีต่างๆ ตามบัญชีทั้งสองนี้ คือ สารเคมีที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด แต่มีปัญหาคือสารเหล่านี้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นทั้งในทางการแพทย์และการอุตสาหกรรม ทำให้การควบคุมเป็นไปได้ยาก เพราะหากควบคุมเข้มงวดมากก็จะกระทบต่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยสุจริตและถึงมีมาตรการควบคุมเข้มงวดอย่างไร ขบวนการค้ายาเสพติดก็หารูรั่วได้เสมอ

สำหรับซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญแต่เดิมใช้เป็นยาลดอาการบวมของเยื่อบุจมูกและโพรงจมูก จึงนำไปใช้มากในโรคหวัดซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อย ยานี้มีการนำไปใช้ในรูปยาเดี่ยวและยาสูตรผสม

ในประเทศไทย แม้จะมีมาตรการควบคุมทั้งตัวยาและยาสูตรผสมเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆแต่ควบคุมได้ไม่หมด ดังกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงที่ผ่านมานี้

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการควบคุมให้ยาแก้หวัดหรือยาอื่นที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยหวังว่าระบบโรงพยาบาลซึ่งของรัฐมีมาตรการควบคุมโดยระเบียบวินัยของทางราชการ และโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล นอกจากนั้นยังมีระบบการควบคุมทางวิชาชีพโดยแพทยสภาและสภาเภสัชกรรม แต่มาตรการเหล่านั้นทั้งหมดก็มีรูรั่วจนได้

แน่นอนว่า การสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนจำนวนมาก แล้วนำไปขายต่อ คงไม่นำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกจากนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า-ยาไอซ์ เพราะกรรมวิธีการละลายตัวยาซูโดอีเฟดรีนจากยาสูตรผสมทำได้ง่ายมาก ใช้ตัวทำละลายที่มีขายทั่วไป เขย่าให้ตกตะกอนแล้วนำตะกอนไปทำให้ระเหย จะได้ตัวยาซูโดอีเฟดรีนถึงร้อยละ 95 ของตัวยาที่มีอยู่ในเม็ดยาทั้งหมด

การนำซูโดอีเฟดรีนไปผลิตเป็นเมทแอมเฟตามีนก็ทำได้ไม่ยาก มีวิธีการต่างๆ เท่าที่ฝ่ายปราบปรามโดยเฉพาะในสหรัฐพบมีถึง 6 วิธี การควบคุมป้องกันจึงทำได้ยาก เพราะจะต้องสกัดสารตั้งต้นและสารอื่นๆให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเรื่องยากเข้าตำรา "โปลิศไล่จับขโมย"ซึ่งย่อมจับได้บางส่วนเท่านั้น

ในสหรัฐช่วงทศวรรษ 1990 พบว่าเส้นทางยาบ้าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเม็กซิโกและมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2538 มลรัฐอินดีแอนาจับกุมห้องแล็บผลิตยาบ้าได้ 6 แห่ง แต่พอถึงปี 2546 เข้าทำลายห้องแล็บผลิตยาบ้าได้ถึง1,260 แห่ง

สะท้อนชัดเจนว่า กรรมวิธีการผลิตยาบ้าทำได้ง่ายและทำกันอย่างกว้างขวางมาก แม้ในสหรัฐซึ่งกลไกรัฐถือว่าเข้มแข็งมากก็ตาม

กรรมวิธีการสกัดตัวยาซูโดอีเฟดรีนออกจากยาสูตรผสมแก้หวัด และกรรมวิธีการผลิตยาบ้าจากซูโดอีเฟดรีนทำได้ไม่ยาก สามารถทำได้ในห้องแล็บเล็กๆ (Kitchen Lab) รายละเอียดกรรมวิธีเหล่านี้มีการเผยแพร่กว้างขวางในอินเทอร์เน็ต

แต่น่าสังเกตว่าเมื่อปี2539 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศฉบับที่ 97 ให้จัดให้ยาแก้หวัดสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีนอยู่ด้วย มีสถานภาพเป็นยา (เพื่อมิให้ต้องถูกควบคุมเข้มงวดถ้ามีสถานภาพเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท)

โดยครั้งนั้นมีการให้เหตุผลว่า การสกัดตัวยาซูโดอีเฟดรีนออกจากยาสูตรผสมทำไม่ได้ ฝ่ายกฎหมายจึงยอมให้ยาแก้หวัดที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมมีสถานภาพเป็นยาได้ ตามข้อยกเว้นในกฎหมาย ยาดังกล่าวจึงสามารถผลิตและจำหน่ายได้อย่างกว้างขวาง

น่าจะมีการตรวจสอบว่าการออกประกาศครั้งนั้น เป็นไปโดยเขลา รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเหตุอื่นเพราะบัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าการสกัดตัวยาซูโดอีเฟดรีนออกจากสูตรยาแก้หวัด ทำได้ และทำได้ค่อนข้างง่ายด้วย

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ 5 มิ.ย.55