ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

โพสต์ทูเดย์ 7 มิ.ย. 55-โวยโรงพยาบาลประกันสังคมยื้อรักษามะเร็งปากมดลูกกว่าครึ่งปี

นางสุวิษา แสงบุตร เจ้าหน้าที่โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เปิดเผยว่าจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ผู้ประกันตนหญิง 4,200 ราย ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อช่วงเดือนก.ค. 2554 พบว่ามี 44 รายที่กำลังจะเป็นมะเร็ง และ 3 รายเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดไปใช้สิทธิในโรงพยาบาลสังกัดประกันสังคม 6 แห่ง แต่ทั้ง 6 แห่งอ้างว่าไม่มีเครื่องมือทั้งที่เป็นขั้นตอนการใช้กล้องส่องปากมดลูกแล้วปาดผิวของปากมดลูกที่เป็นรอยโรคออก(LEEP) หรือหากไม่มีเครื่องมือจริงก็ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นแต่โรงพยาบาลกลับอ้างว่าหากจะรักษาต้องจ่ายเงินตรวจใหม่อีก 700 บาท และต้องรอผลอีก 1 เดือน

"ประกอบกับปลายปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รักษา เรื่องนี้รันทดมาก ทีมงานจึงได้เสนอปัญหานี้ไปยังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2554 แต่ผ่านไปกว่าครึ่งปีถึงจะเริ่มรักษาได้ครึ่งหนึ่ง จนถึงเดือน เม.ย.ยังเหลืออีก 4 รายที่ยังไม่ได้เริ่มรักษา" นางสุวิษา กล่าว

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในจำนวนนี้มี 1 รายที่ตรวจพบโรคเมื่อ2 ปีก่อนว่าจะเป็นมะเร็ง แต่โรงพยาบาลกลับแจ้งว่ายังไม่ถึงเกณฑ์การรักษา ทำให้ผู้ป่วยต้องรอเข้าโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งในครั้งนี้จึงจะได้ใช้สิทธิ

"แบบนี้เท่ากับโรงพยาบาลหวังกำไรมากกว่าห่วงชีวิตคน สปส.คุ้มครองใครกันแน่ การขึ้นเพดานค่ารักษาโรคมะเร็งจาก 5 หมื่นบาทเป็น 2.72 แสนบาท จะมีส่วนดีหรือเสียกันแน่ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ3 กองทุนสุขภาพ โดยจะขยายการรักษาไปถึงโรคเอดส์และไต ก็ควรจะคำนึงถึงประสิทธิภาพมากกว่านี้"นพ.พูลชัย กล่าว

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า โดยหลักการหากตรวจพบเซลล์มะเร็งก็สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหนัก และระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ไม่น่าจะจูงใจให้โรงพยาบาลเน้นรักษาแต่ผู้ป่วยอาการหนักเพื่อหวังเงินมากๆ

"หากพบเซลล์ผิดปกติก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ หากพบกรณีนี้ให้แจ้งมายัง สปส." นพ.สุรเดช กล่าว