ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลทางระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงรวม 16  จังหวัด วางระบบความพร้อมตามแผน 4 แผน และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการผู้เจ็บป่วย พบผู้บาดเจ็บที่ระนอง 8 ราย ถูกตะปูตำ หนูกัด ลื่นล้มศีรษะแตก โดยส่วนกลางสำรองยาชุดน้ำท่วม 800,000ชุด วันนี้ส่งจังหวัดชุมพร 10,000ชุด

เมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2555 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใน 16 จังหวัดที่ประสบภัยและเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา สตูล แม่ฮ่องสอน เลย กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และภูเก็ต  เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วง และได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

นายวิทยากล่าวว่าขณะนี้ได้รับรายงานมีน้ำท่วมใน 2จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง โดยที่ จ.ชุมพร ท่วมใน 5 อำเภอ 20 ตำบล ได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับ อสม. ออกสำรวจ 5 กลุ่มเสี่ยง เพื่อเตรียมแผนดูแลหากประสบภัยเสี่ยงอันตรายและแจกยา    ชุดน้ำท่วมไปแล้ว 2,000 ชุด ส่วน จ.ระนอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 หน่วยออกให้บริการ พบผู้บาดเจ็บ 8 ราย ถูกหนูกัด ตะปูตำ ลื่นล้มศีรษะแตก ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แจกยาชุดน้ำท่วม 500 ชุด และขอยาเพิ่มอีก 3,000 ชุด มีสถานบริการประสบภัย น้ำท่วม 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนพลา อ.กระบุรี  น้ำขัง 20 เซนติเมตร ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สามารถให้บริการได้ จากการติดตามส่วนใหญ่   ได้เตรียมความพร้อมรับมือเรียบร้อยแล้ว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการรองรับปัญหาอุทกภัย ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งที่เสี่ยงประสบ  อุทกภัย จัดทำแผน 4 ด้าน คือ1.แผนป้องกันสถานบริการไม่ให้เสียหาย โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ   2.แผนการสำรองทรัพยากรที่จำเป็นในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่นออกซิเจน เวชภัณฑ์ยา อาหารผู้ป่วย ให้ใช้ได้อย่างน้อย 10วัน 3.แผนการส่งต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก รวมทั้งผู้ป่วยในชุมชน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข สำรวจกลุ่มเสี่ยง 5กลุ่มได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็กและผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนอยู่ที่บ้าน ไม่ให้ขาดยา เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยให้โรงพยาบาลจัดส่งยาไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด และ 4.แผนการปรับระบบบริการประชาชนหากน้ำท่วมจนไม่สามารถให้บริการได้โดยให้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้ส่วนกลางทุกวัน   หากเกิดภาวะวิกฤติรุนแรงขึ้น จะได้เตรียมการช่วยเหลือขั้นสูงต่อไป

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม สำรองยาชุดน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 800,000ชุด เช้าวันนี้ได้ส่งไปให้จังหวัดชุมพรแล้ว 10,000ชุด พร้อมได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนฟรีอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนเจ็บป่วยกะทันหัน สามารถโทรขอแจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ทางสายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง