ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.สุทธจิต ลีนานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในปัจจุบันคาดว่ามีคนที่เป็นโรคอ้วนเกิดขนาดคือ ดัชนีมวลกาย หรือบีเอ็มไอ เกิน 35-40 ประมาณ 1 แสนคนที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งคนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนปกติกว่า 2,000 เท่าเพราะมีภาวะแทรกซ้อนหลายโรค จึงจำเป็นต้องการได้รับการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลง

วิธีการผ่าตัดมี 3 วิธีด้วยกันคือ การผ่าตัดรัดกระเพาะอาหาร การผ่าตัดบายพาส และการผ่าตัดแบบสลีฟที่เป็นการตัดกระเพาะส่วนหนึ่งออกไป 8 ปีที่ผ่านมาทีมของตนผ่าตัดให้คนไข้ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า และ รพ.ข้างนอก ให้ผู้ป่วยมาแล้วประมาณ 300 ราย อายุต่ำสุด 19 ปี อายุสูงสุด 65 ปี น้ำหนักมากที่สุดอยู่ที่ 260 กก. ส่วนการผ่าตัดโรคอ้วนทั่วประเทศตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 700 ราย

การผ่าตัดส่วนใหญ่ได้ผลดี วิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การผ่าตัดบายพาส รองลงมาคือการผ่าตัดกระเพาะส่วนหนึ่งออกไป ส่วนการผ่าตัดรัดกระเพาะทำน้อยที่สุด ผลแทรกซ้อนการผ่าตัดมีประมาณร้อยละ 20 เช่น เลือดออก รอยต่อรั่ว เย็บไม่ติด ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด และเสียชีวิต โดยในจำนวน 300 รายนี้ มีเพียง 1 รายที่เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด กรณีการผ่าตัดรัดกระเพาะโดยใช้แหวนซิลิโคนนั้น อาจมีผลข้อเสีย เช่น กัดกร่อนเนื้อเยื่อได้ ส่วนการทำบายพาสข้อเสียคือ อาจทำให้ผู้ป่วยขาดวิตามินหรือแร่ธาตุอาหารได้ จึงต้องกินวิตามินเสริม โดยค่าใช้จ่ายทั้ง 3 วิธีอยู่ที่ 200,000-250,000 บาท

ส่วนข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด สามารถทำได้ทุกอายุ ตั้งแต่วัยรุ่นที่หยุดสูงแล้วไปจนถึงอายุ 65 ปี โดยในคนที่มีดัชนีมวลกาย 32 และมีภาวะแทรกซ้อน หรือมีดัชนีมวลกาย 37 แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ผ่าตัดได้ แต่ก่อนจะผ่าตัดสิ่งสำคัญคือคนไข้จะต้องมีไอคิว อีคิว เข้าใจการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในเรื่องระเบียบวินัย การควบคุมอาหาร ปัจจุบันมีจำนวนคนไข้โรคอ้วนที่ต้องการผ่าตัดจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรให้ผ่าตัดรักษาโรคอ้วนอยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน--จบ--

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 7 มิ.ย. 55

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง