ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมเปิดประชุมระดับภูมิภาค เรื่องการจัดการความเสี่ยง ภัยพิบัติในภาคสุขภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านภัยพิบัติและสาธารณสุขระดับชาติจาก 11 ประเทศสมาชิก คือ บังกลาเทศ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี สาธารณรัฐมัลดีฟส์ มองโกเลีย เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน และประเทศไทย ร่วมหารือพัฒนาแผนที่นำทาง (Roadmap) สำหรับการจัดการความเสี่ยงในช่วงเกิดภัยพิบัติที่ดีขึ้น ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายนนี้

นพ.สำลีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะร่วมกำหนดแผนในลักษณะโครงสร้างในการรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติสูงที่สุดกว่าภูมิภาคอื่นๆ หรือคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติทั่วโลก อีกทั้งภูมิภาคนี้มีประชากรอาศัยจำนวนมาก คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก ที่ผ่านมาเกิดอุทกภัย พายุ แผ่นดินไหว และสึนามิ บ่อยครั้งในภูมิภาคนี้ จึงได้พยายามส่งเสริมให้ทุกประเทศเกิดความร่วมมือในการวางแผนเตรียมความพร้อมเพราะประเทศเดียวไม่สามารถจัดการได้เองทั้งหมด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศใกล้เคียงจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์

"การประชุมครั้งนี้จะกำหนดแผนงานในลักษณะโครงสร้าง เป็นแนวทางให้ทั้ง 11 ประเทศสมาชิก ให้นำไปปรับใช้กับพื้นที่และลงรายละเอียดต่างๆ ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะชุมชนที่ต้องมีแผน ให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม รู้จักปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุการณ์ ซึ่งผลจากการประชุมจะนำเสนอรัฐบาลด้วย หวังว่าในอนาคตจะลดการสูญเสียชีวิตได้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาหลังจากมีการประชุมกำหนดแผนงานแล้ว พิสูจน์ได้ว่าลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้น้อยลง และเชื่อว่าประเทศไทยเมื่อเกิดภัยพิบัติจะเกิดการสูญเสียน้อยมาก เพราะมีแผนงานที่ชัดเจนมีอาสาสมัครจำนวนมากและโครงสร้างระบบสาธารณสุขมูลฐานที่แข็งแรงมากอยู่แล้ว" นพ.สำลีกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน 7 มิ.ย. 55