ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพหนุนรัฐบาลเดินหน้าสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ใช้รูปแบบเหมือนระบบฉุกเฉิน 3 กองทุน เสนอรัฐบาลทำเรื่องมะเร็ง คู่กับไตและเอดส์ ชี้มะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงสุดคนไทย ถ้าลดเหลื่อมล้ำได้จะช่วยคนได้อีกมาก เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้นำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้าโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วย ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บเงิน 30 บาท เรียกร้องนายกกำกับลดความเหลื่อมล้ำ เพราะขอบเขตเกินภารกิจของสธ. แต่เกี่ยวพันหลายกระทรวง ทั้งเรื่อง ราคายา ประกันสังคม กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแถลงจุดยืนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และเสนอรัฐบาลเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำโรคมะเร็ง ควบคู่กับการที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดความเหลื่อมล้ำโรคไตและโรคเอดส์ ในระยะต่อไป เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการตายสูงสุด 1 ใน 5 ของคนไทย ขณะที่สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน ทั้งสิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงินให้รพ. ยาที่ได้รับ หากรัฐบาลทำให้สิทธิประโยชน์โรคมะเร็งทั้ง 3 กองทุนเหมือนกันจะมีประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกร้องให้นำกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินยังถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยังไม่สามารถรวมการบริหารจัดการกองทุนผู้ประสบภัยจากรถเข้ามาได้ ทำให้ประชาชนและหน่วยบริการยังประสบความยุ่งยากในการเบิกจ่ายเช่นเดิม ผู้ป่วยบางรายยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อน ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการเรียกการเก็บเงินจากประชาชน 30 บาท เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย และทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลยากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.เคยพูดว่าจะต้องพัฒนาระบบริการคุณภาพก่อนจึงจะเก็บเงิน 30 บ. ดังนั้นต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าได้พัฒนาคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหาคุณภาพการเข้าถึงบริการอีกมาก จึงไม่ควรเก็บเงิน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่ดีในการเริ่มต้นสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพียงแต่ในรายละเอียดการบริหารจัดการที่ยังทำให้นโยบายไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ประเด็นนี้รัฐต้องเข้าไปกำกับอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือนายกรัฐมนตรีควรลงมากำกับดำเนินการให้มากขึ้น เพราะการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน มีขอบเขตของภารกิจของภารกิจมากกว่ารมว.สธ. แต่ครอบคลุมไปถึงการทำงานของหลายกระทรวง  เช่น การกำกับต้นทุนโครงสร้างราคายา ราคาบริการการแพทย์รพ.เอกชน การทำให้กองทุนผู้ประสบภัยจากรถร่วมในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานประกันสังคม

“สำหรับการดำเนินการในเดินหน้าทิศทางในอนาคตต้องครอบคลุมไปถึงโรคอื่นๆด้วย เช่น ไต มะเร็ง เอชไอวี/เอดส์ รวมถึงโรคอื่นๆที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในอนาคต จึงต้องมีการวางแนวทางการรักษาของแต่ละโรค และกำกับให้แพทย์มีแนวทางการรักษาในแนวทางเดียวกัน มีระบบการจัดการที่เอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ และมีกรรมการควบคุมราคาอัตราค่าบริการทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และยาด้วย ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ที่เกิดกับตัวผู้ป่วยโดยตรง และเป็นผลดีต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ” นายนิมิตร์ กล่าว