ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแผนเดินหน้าลดจำนวนป่วยมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทย จะใช้ 3 มาตรการร่วมกัน ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกัน      การตรวจค้นหาผู้ป่วยด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ วิธี วี ไอ เอ และการฉีดวัคซีนป้องกันในเด็กหญิงอายุ 12 ปี แต่จะต้องต่อรองราคาให้ได้ต่ำที่สุด

วานนี้ (7 มิถุนายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่า ได้ประชุมปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแท็ป รวมถึงตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก ในการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า จะต้องใช้วิธีการแบบบูรณาการร่วมกัน  3 วิธี ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้แก่ 1.การให้ความรู้ประชาชน 2.การตรวจคัดกรองด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ และวิธี วี ไอ เอ ซึ่งเป็นวิธีที่ดำเนินการมานานแล้ว จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้น และ 3.การฉีดวัคซีน เอช พี วี ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับว่าได้ผล ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 70 โดยจะดำเนินการต่อไป เมื่อได้ราคาที่เหมาะสม

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีราคาวัคซีนที่เหมาะสม เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ ที่จะเป็นผู้พิจารณาราคา ซึ่งยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลา แต่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โครงการนี้จะได้ประสานขั้นตอนโดยไม่ชักช้า เพราะหากเราเริ่มฉีดวัคซีนในวันนี้ ตัวเลขผู้ป่วยจะลดลง และน่าจะเห็นชัดเจนในอีก 20 ปี ข้างหน้า หากเริ่มช้ากว่านี้ ก็จะเห็นผลช้าออกไปอีก และเชื่อว่าราคาวัคซีนที่เริ่มฉีดในวันนี้ ในอนาคตราคาจะถูกลงไปอีกเรื่อยๆ หากเริ่มฉีดได้จริงจะฉีดให้กับเด็กหญิงอายุ 12 ปี หรือเด็กที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจะฉีดในโรงเรียนเป็นหลัก หากการฉีดวัคซีนได้รับการบรรจุในสิทธิประโยชน์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว จะถือว่าเป็นวัคซีนพื้นฐานฉีดให้เด็กหญิงอายุ 12 ปีตามเงื่อนไขให้ได้มากที่สุด

สำหรับการคัดกรองด้วยวิธีแป๊ปสเมียร์ และ วีไอเอ ที่ประชุมในวันนี้ได้เสนอให้ผู้หญิงเข้ามารับการตรวจให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงไม่รู้สึกเขินอาย กล้ามาตรวจมากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำมาพิจารณาหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนและอยู่ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีหลายราคาที่เสนอมา แต่ที่ต้องการคือราคาต่ำที่สุด ในส่วนของต่างประเทศที่ซื้อวัคซีนได้ในราคาถูกนั้น เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลก แต่ประเทศไทยไม่อยู่ในเกณฑ์ความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงต้องต่อรองราคาซื้อเอง ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันต่อรองให้ได้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดเพดานราคา กำหนดเพียงว่าต้องต่ำที่สุด จึงจะซื้อฉีด ราคาที่บริษัทวัคซีนเสนอมานั้น จะเท่าใดก็ตามต้องให้คณะกรรมการฯพิจารณาต่อรองก่อน แม้ว่าบริษัทจะเสนอราคาที่ต่ำแล้ว ก็ต้องต่อรองให้ต่ำลงไปอีก จึงจะถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม 

 “หากการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น ก็จะเป็นการต่อยอด จากการทำแป็บสเมียร์ หรือการตรวจ วีไอเอ ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้เริ่มป่วย แต่การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกัน ลดจำนวนการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ วัคซีนดังกล่าวจะป้องกันไวรัสเอชพีวี ได้ 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18   ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกของหญิงทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วยประมาณร้อยละ 70”  นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว