ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ให้เสร็จในวันที่ 14 มิถุนายน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 6 แสนคน ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการให้สิทธิรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคทั่วไป แต่ยกเว้นในส่วนของการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งในกรณีนี้ กกจ.ได้ออกประกาศให้นายจ้างซื้อประกันให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อปี ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ กกจ.ในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานต่างด้าวที่เจ็บป่วยในการทำงาน เช่นเดียวกับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม

นายประวิทย์กล่าวว่า นายจ้างซื้อประกันชีวิตให้คนงานเพียง 20,000 คน จากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันจำนวน 886,507 คน ในจำนวนนี้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 200,000 คน ยังเหลือแรงงานต่างด้าวไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 600,000 คน ซึ่งไม่มีระบบประกันสุขภาพในการดูแล หากประสบอันตรายในการทำงาน แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งขณะนี้เหลืออยู่กว่า 600,000 คน ที่รอการพิสูจน์สัญชาติอยู่นั้น จะมีประกันสุขภาพทั่วไปซึ่งซื้อจากกระทรวงสาธารณสุขคนละ 1,300 บาทต่อปี และประกันความปลอดภัยในการทำงานของ กกจ.ที่ทำกับบริษัททิพยประกันภัย คนละ 500 บาทต่อปี ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) มีมติให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวออกไปอีก 6 เดือน จากวันที่ 14 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 14 ธันวาคม จะเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ เมื่อแรงงานต่างด้าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เลย นายจ้างบางรายจึงไม่อยากทำประกันสุขภาพนี้ให้แก่ลูกจ้างต่างด้าว

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 8 มิ.ย. 55