ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เกาะติด กัดติดการสร้างสุขภาพดีประชาชน ลดป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวาย โรคหัวใจ ซึ่งก่อความสูญทางเศรษฐกิจปีละ 3 แสนล้านบาท ให้รณรงค์อาหารโต๊ะจีนเป็นอาหารสร้างสุขภาพ และรณรงค์การลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย จัดโครงการไข่ใหม่แลกยาเก่าติดฝาบ้าน เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป

วันนี้ (11 มิถุนายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า วันนี้ได้เน้นย้ำที่ประชุม เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นเดือนกันยายน 2555 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นไปตามแผนการพัฒนาประเทศ รวมทั้งให้ติดตามการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติเพื่อเตรียมความพร้อมรับเหตุการณ์ตลอดเวลา การทำงานต้องฉับไว ลดความเดือดร้อนประชาชน

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาเจ็บป่วยของประชาชน ในรอบ 30 ปีมานี้มีหลายโรคที่กระทรวงสาธารณสุขประสบผลสำเร็จ เช่นโรคขาดสารอาหาร งานวางแผนครอบครัว โรคเท้าช้าง แต่มีโรคใหม่เกิดขึ้นและน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ เช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติ ในปี 2554 พบผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพในช่วงวัยหนุ่มสาวยังไม่ดีพอ จึงเกิดผลเมื่อสูงวัย และเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคไตวาย โรคเส้นเลือดสมองแตก/ตีบตัน โรคหัวใจตามมาด้วย รวมแล้วมีคนไทยป่วยจาก 5 โรคนี้ประมาณ 17.5 ล้านคน มูลค่าการรักษาทั้งเรื่องยา การผ่าตัด ฟอกไต ประมาณปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งรัดลดโรคลงให้ได้ โดยให้เพิ่มการสร้างสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งมี 9,750 แห่งครอบคลุมทุกตำบล เป็นด่านสกัดจำนวนผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มจำนวน โดยให้ยึดหลักทำงานเน้นหนักการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ และทำงานแบบเกาะติด กัดติด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การกินอาหารที่รสหวานมันเค็มให้อยู่ในเกณฑ์พอดี กินผักผลไม้มากขึ้น ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งสภาพสังคมไทยขณะนี้ ตามชนบทต่างๆ ประชาชนมักจะมีงานจัดเลี้ยงอาหารหรือเลี้ยงโต๊ะจีน ฉลองงานบุญประเพณีต่างๆ เช่นงานบวช กินพร้อมกันโต๊ะละ 6-10 คน ซึ่งอาหารบนโต๊ะจีน จะมีรสมันมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องเข้าให้ถึง สร้างค่านิยมการปรุงอาหารไม่ให้มีรสหวานมันเค็มเกินไป เสริมด้วยผักผลไม้ให้มากขึ้น เป็นอาหารสร้างสุขภาพ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 20 ปี จึงจะลดโรคเรื้อรังได้สำเร็จ หากป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงได้ จะลดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และไตวายได้ด้วย โดยให้นำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทยไปขยายผลทุกพื้นที่และรณรงค์อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้ทุกจังหวัดรณรงค์ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้กินยาดีเมื่อเจ็บป่วย ไม่ใช้ยาฟุ่มเฟือยเหมือนที่ผ่านมา ทำให้การสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลสำรวจในปี 2554 พบว่าประชาชนมียาเก่า คนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด รอบ 8 ปี มูลค่าใช้ยาเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท ปัญหาหลักเกิดจากลืมกินยา ทำให้ยาหมดอายุ เก็บทิ้งไว้ตามฝาบ้านจำนวนมาก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดโครงการรณรงค์ “ไข่ใหม่แลกยาเก่าติดฝาบ้าน” ให้ชาวบ้านนำยาเก่าที่บ้านไปแลกไข่สดฟรี ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง จากการทดลองโครงการที่จังหวัดเชียงราย ใน 20 ตำบล ใช้เงินลงทุนซื้อไข่ไก่ 4,000 บาท แต่ได้ยาเก่าคืนมูลค่า 80,000 บาท ชาวบ้านให้ความสนใจมาก ยาที่ได้รับคืนมากที่สุดคือยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิต และลดเบาหวาน โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป