ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรของสาธารณสุข โดยขอ ก.พ. บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการพลเรือนกว่า 31,000 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพกว่า 17,000 อัตราคาดรู้ผลในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ และจัดทำระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข รองรับลูกจ้างชั่วคราว ไว้เป็นทางเลือกที่มั่นคง เงินเดือนสูงกว่าราชการ 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกองทุนบำเหน็จฯ ดำรงชีพหลังเกษียณ

วันนี้ (12 มิถุนายน 2555) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 500 คน ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี เพื่อชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหากำลังคนของกระทรวงฯและความคืบหน้าการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการพลเรือน

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน และจัดบริการด้านสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.บุคลากร 2.การจัดการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง และ3.การพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาที่เร่งด่วนคือเรื่องบุคลากร ซึ่งเป็นกลไกหลักการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยบริการสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 10,000 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง มีบุคลากรทั้งหมด 340,000 คน แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวมากถึง 120,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพ และมีความเสี่ยงการสูญเสียออกจากระบบตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 110 ล้านครั้ง เป็น 150 ล้านครั้งต่อปี

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาบุคลากรได้วางแผนไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การขอบรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่ทำหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลให้เป็นข้าราชการพลเรือน ในปี 2555 นี้ จำนวน 31,914 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 17,000 อัตรา แนวทางที่ 2 คือ การจัดทำร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข บรรจุลูกจ้างชั่วคราวที่เหลืออีกประมาณ 90,000 อัตรา ซึ่งจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ มีสิทธิอบรมพัฒนาความรู้ความชำนาญในสายวิชาชีพ และมีกองทุนบำเหน็จบำนาญคล้าย กบข. เมื่อเกษียณอายุจะได้รับเงินกองทุนสำหรับดำรงชีพ ขณะนี้ร่างระเบียบเรียบร้อยแล้ว และแนวทางที่ 3 การออกจาก ก.พ. จากการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. แนวทางที่มีความเป็นไปสูง คือแนวทางที่ 1 และ 2 ซึ่งจะเดินควบคู่กัน

ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ขอ ก.พ. จำนวน 31,914 ตำแหน่งนั้น ได้มอบให้นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะหารือกับ ก.พ. จะรู้ผลในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ ในการบรรจุ หากได้พร้อมกันทั้งหมดตามจำนวนที่ขอไป ก็สามารถดำเนินการบรรจุได้ทันที แต่หากเป็นการทยอยบรรจุเป็นรายปีไม่พร้อมกัน ก็จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์การบรรจุเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในกลุ่มของพยาบาลวิชาชีพจะพิจารณาตามปีที่จบการศึกษา และปีที่เริ่มทำงานในสถานบริการสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับโควตาของโรงพยาบาล