ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2557 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

ทั้งนี้ โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557 ไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับองค์กรภาคเอกชน ให้เสนอขอรับเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2557 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์ และมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันมิให้เกิดผู้บริโภคยาสูบรายใหม่ ประกอบด้วย 3 ยุทธวิธี เช่น การให้ความรู้ การป้องกันเด็กและเยาวชนจากความเย้ายวน ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ ศธ., พม., ทก., วธ., ตช., สคบ. ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดและเลิกใช้ยาสูบประกอบด้วย 5 ยุทธวิธี เช่น ส่งเสริมการเลิกบริโภคยาสูบ ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายให้มีองค์ความรู้ในการช่วยให้เลิกยาสูบ ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ กรมการแพทย์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบประกอบด้วย 4 ยุทธวิธี เช่น ปรับกฎหมายว่าด้วยการแจ้งรายการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ การสร้างกระบวนการบริหารจัดการ ข้อมูลส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ประกอบด้วย 6 ยุทธวิธี เช่น การส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย การปรับเปลี่ยนค่านิยมของผู้บริโภคยาสูบ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ กรมควบคุมโรค ศธ., รง., ทส., อก. ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานควบคุมยาสูบของประเทศไทย ประกอบด้วย 6 ยุทธวิธี เช่น การพัฒนานโยบายและภาวการนำในการควบคุมยาสูบ การพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารจัดการ หน่วยงานควบคุมยาสูบ ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ กรมควบคุมโรค ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การควบคุมการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 4 ยุทธวิธี เช่น การป้องกันและปราบปรามยาสูบผิดกฎหมาย การควบคุมแหล่งจัดหา ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 7 การแก้ไขปัญหาการควบคุมยาสูบโดยใช้มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 2 ยุทธวิธี ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างภาษียาสูบและการปรับปรุงระบบการบริหารจัดเก็บภาษียาสูบเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการควบคุมยาสูบ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ อาทิ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเฝ้าระวังและควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ ประกอบด้วย 7 ยุทธวิธี เช่น การป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบเข้ามาแทรกแซง การตรวจสอบอุตสาหกรรมยาสูบ (บริษัทข้ามชาติและโรงงานยาสูบ กลุ่มบังหน้าผลประโยชน์ร่วมกัน) ฯลฯ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ กรมควบคุมโรค

เรื่องที่เกี่ยวข้อง