ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนำทัพขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 เข้มข้นใน 5 กลุ่มที่มีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นศูนย์ได้จริง 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้ตายจากเอดส์ และไม่มีการตีตราเลือกปฏิบัติ คาดปี 2559 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยจะมีไม่เกิน 4,900 คน

วันนี้ (14 มิถุนายน 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประกาศความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศไทยของหน่วยงานประกอบด้วย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด และภาคีเครือข่ายด้านเอดส์ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 400 คน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ.2559 ในงานประชุมยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 และให้สัมภาษณ์ว่า กว่า 28 ปีที่ประเทศไทยต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์ จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง แต่จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาพบว่า อัตราการติดเชื้อในประชากร 5 กลุ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ 1.กลุ่มเยาวชน ที่มักมีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนและไม่ป้องกัน 2.พนักงานบริการหญิง 3.กลุ่มชายรักชาย 4.ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด 5.กลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งหมดนี้ต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงานป้องกันในกลุ่มดังกล่าวต่อไป

ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 นั้น มีมาตรการที่จะเน้นดำเนินการแบบเข้มข้นในกลุ่มดังกล่าว กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้เกิดผล 3 ศูนย์ ได้แก่ 1.ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ โดยจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อฯรายใหม่ให้ได้ 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณ และลดอัตราการติดเชื้อในทารกแรกเกิดให้น้อยกว่าร้อยละ 2 2.ไม่มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ โดยผู้ติดเชื้อทุกคนจะได้รับความคุ้มครองทางสังคมและเข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์จะลดลงมากกว่าร้อยละ 50 และ 3.ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการป้องกันรักษาดูแล และบริการรัฐสาธารณะ อีกทั้งเน้นการทำงานอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น จำนวนการถูกเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิของผู้ติดเชื้อลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 43,790 ล้านบาท และภายในปี 2559 ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือไม่เกิน 4,900 ราย

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบริการทั้งการป้องกันและดูแลรักษาได้ทั่วถึงและเท่าเทียม และเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาก จะทำให้ประเทศสามารถสนับสนุนทรัพยากรในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จริงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์

สำหรับสถานการณ์เอดส์ ในประเทศไทย จากการคาดประมาณล่าสุดในปี 2554 คาดว่ามียอดผู้ติดเชื้อเอดส์สะสม 1,148,117 คน ยังมีชีวิต 481,770 ราย และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,097 คน