ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน และ รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการพัฒนา "ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน"

ศ.นพ.ประมวลกล่าวว่า ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เกิดจากการพัฒนาของตัวอ่อนมนุษย์อายุ 5-7 วัน หลังการปฏิสนธิ ซึ่งได้รับการบริจาคจากผู้ที่ทำการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือจากการทำเด็กหลอดแก้ว ขณะนี้ได้พัฒนา 4 สายพันธุ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรปแล้ว 1 สายพันธุ์ คือ CUHES 2 และขณะนี้กำลังวิจัย ต่อยอดจากการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อหาปัจจัยเหนี่ยวนำในการเปลี่ยนแปลงเซลล์ต้นกำเนิดให้กลายเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เช่น เซลล์สมอง เซลล์ประสาท เซลล์หัวใจ เพื่อนำไปรักษาและทดแทนเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ที่ถูกทำลาย การรักษาโรคต่างๆ ด้วย รวมถึงการค้นคว้าวิจัยพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงและการใช้เซลล์ชนิดต่างๆ เป็นเซลล์พี่เลี้ยง

รศ.นพ.กำธรกล่าวว่า ผู้มีบุตรยาก แล้วมาทำเด็กหลอดแก้วจะเหลือเอ็มบริโอหรือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ที่เหลือจาก การถ่ายไปสู่มดลูก ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจะเก็บรักษาไว้ให้ 5 ปี หากไม่ต้องการแล้วจะถูกทำลายทิ้ง ทางคณะแพทย์ได้ศึกษางานวิจัยจากต่างประเทศที่นำตัวอ่อนจากการปฏิสนธิภายนอกมาสร้างเซลล์ตัวอ่อน จึงได้เริ่มวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จากการบริจาคตัวอ่อน เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมีลักษณะเด่นที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่มีขีดจำกัด คือสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ต่างๆ ได้ทุกส่วนของร่างกาย และในปี 2552 คณะวิจัยสามารถสร้างสายพันธุ์แรกได้คือ CUHES 2 ที่สร้างมาจากตัวอ่อนที่ผ่านการแช่แข็งมานานกว่า 15 ปี หลังจากนั้น 3 เดือน ก็ได้สร้างได้ออกมาอีก 3 สายพันธุ์ คือ CUHES 3, CUHES 4 และ CUHES 5

รศ.นพ.กำธรกล่าวต่อว่า สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ขณะนี้คณะผู้วิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในเซลล์ประสาท เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อมสภาพ แต่ยังไม่มีการฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด และกำลังทำการเหนี่ยวนำเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อทดสอบการออกฤทธิ์ของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยาในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ นอกจากนี้ ยังได้กระจายเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสายพันธุ์ CUHES 2 ไปสู่ห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เพื่อทำการพัฒนาเซลล์และหาทางนำไปใช้รักษาผู้ป่วยร่วมกัน

มติชน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555