ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ.เตรียมเรียกผู้แทนโรงพยาบาลในเครือข่าย สปสช.หารือทิศทางเก็บ 30 บาทจากผู้ป่วย ด้าน สปส.เพิ่มวงเงินกรณีผู้ประกันตนบาดเจ็บจากการทำงาน

หลังจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่ายค่าบริการครั้งละ 30 บาท ทุกครั้งที่ไปใช้บริการและได้รับยา โดยเริ่มก่อนเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ และทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปก่อนจะขยายเรียกเก็บครบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศกลางปี 2556 แต่ห้ามเก็บในกลุ่มที่ยกเว้นเช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็นต้น นั้น

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นพ.ไพจิตร์ วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ สธ.จะเชิญหน่วยบริการที่ต้องเรียกเก็บ30 บาท ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ มาหารือถึงแนวทางและการเตรียมความพร้อม เช่น กรณีต้องขยายเวลาให้บริการผู้ป่วยทั้งช่วงเช้าและบ่ายกรณีเป็นกลุ่มยกเว้นห้ามเรียกเก็บเด็ดขาด รวมทั้งเงินที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจัดเก็บได้จะเข้าสู่ระบบเงินบำรุงของโรงพยาบาล เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิได้ทั้งช่วงเช้าและบ่ายจะส่งผลต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรหรือไม่ นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ แต่เรื่องดังกล่าวจะอยู่ที่การบริหารจัดการเป็นหลัก

"การเรียกเก็บ 30 บาท ที่เข้าสู่ระบบเงินบำรุงของโรงพยาบาลนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แพทย์ด้วย แม้จะไม่มากแต่ก็ถือว่ายังดีกว่าไม่มี สำหรับโรงพยาบาลในสังกัด สธ.นั้นรัฐบาลจะช่วยอีกทางด้วย" นพ.ไพจิตร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นร่วมจ่าย 30 บาท ประกอบด้วย 1.ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลพ.ศ.2537 2.คนโสด มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท 3.บุคคลในครอบครัวเดียวกัน มีรายได้รวมกันไม่เกินเดือนละ 2,800 บาท 4.ผู้เยาว์ ไม่ได้อยู่ในอุปการะครอบครัว และมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท 5.ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนันสารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ 6.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 7.ผู้ที่มีอายุเกิน60 ปี 8.เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 9.ผู้พิการ 10.พระภิกษุ สามเณร 11.ทหารผ่านศึกทุกระดับชั้น12.นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น13.ทหารเกณฑ์ นักเรียนทหาร 14.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปและบุคคลในครอบครัว 15.ผู้บริหารโรงเรียนและครูของโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามควบคู่กับวิชาชีพสามัญหรือวิชาชีพในเขตจ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุงนครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ตและ 16.บุคคลผู้ถูกโจรทำร้าย เป็นต้น

วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการการแพทย์สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแก้ไขกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน โดยปรับเปลี่ยนอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพให้แก่ผู้ประกันตนจาก 20,000 บาท ต่อการบาดเจ็บ 1 ครั้ง เพิ่มเป็น 30,000 บาท ต่อการบาดเจ็บ 1 ครั้ง ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกาย จาก 20,000 บาท ต่อการบาดเจ็บ 1 ครั้ง เพิ่มเป็น 24,000 บาท ต่อการบาดเจ็บ 1 ครั้ง รวมทั้งได้กำหนดเพดานค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์เสริมเป็น 160,000 บาท ต่อการบาดเจ็บ 1 ครั้ง จากเดิมไม่ได้มีการกำหนดเพดานเนื่องจากให้เบิกได้ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด

"การแก้ไขร่างกฎกระทรวงนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนภายใน 2-3 สัปดาห์หน้า เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป ซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงนี้ได้เพิ่มอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและร่างกายให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ซึ่งจะทำให้ฟื้นฟูด้านการทำงานและร่างกายได้ดีขึ้นกว่าเดิม"นพ.สมเกียรติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนเงินทดแทนให้สิทธิประโยชน์ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทน ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ โดยค่ารักษาพยาบาลทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ โดยค่ารักษาพยาบาลได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 3.5 หมื่นบาทต่อการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย 1 ครั้ง หากเกินก็ให้เบิกเพิ่มตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับค่ารักษาพยาบาล และค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน และกรณีสูญเสียอวัยวะจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือนในการหยุดพักรักษาตัว และค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ในการสูญเสียอวัยวะไม่เกิน 10 ปี

ส่วนกรณีลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ก็จะได้รับค่าฟื้นฟูดังนี้ คือ ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์ และอาชีพเท่าที่จ่ายจริง มติล่าสุดของคณะกรรมการแพทย์ให้ปรับขึ้นเป็น 30,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานปรับเพิ่มเป็น 24,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท

ทั้งนี้ ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน สูญเสียอวัยวะทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย จะได้รับในอัตราที่ต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน ถ้าลูกจ้างตายหรือสูญหาย ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่ 1.บิดา มารดา 2.สามี /ภรรยา 3.บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 4.บุตรที่ทุพพลภาพ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ และอยู่ในความอุปการะของลูกจ้าง อย่างไรก็ตามหากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในความอุปการะของลูกจ้าง เป็นผู้มีสิทธิ

ส่วนวิธีเบิกค่ารักษาพยาบาล ให้นำใบเสร็จรับเงินมาเบิกคืนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่จ่ายแต่ถ้าทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับกองทุน สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บเงินจากกองทุนโดยตรง และเมื่อมารับเงินใช้หลักฐาน คือ บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ ซึ่งหากไม่ได้มารับด้วยตนเองจะต้องมีใบมอบฉันทะ

 

--มติชน ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--