ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยโรคมะเร็งปัญหาสำคัญของไทย สาเหตุการตายอันดับหนึ่ง และสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล 3 กองทุนสุดเหลื่อมล้ำ โรคเดียวกัน แต่ได้ยาต่างกัน เหตุราคายาสุดแพงแถมไร้ระบบควบคุมกำกับต่อรอง พบผู้ป่วย 30 บาทและประกันสังคมเข้าไม่ถึงยา แม้เป็นยาที่รักษาหายขาด แต่มีราคาแพงมาก เม็ดละ 4 พัน เข็มละ 7 หมื่น ทั้งคอร์สใช้เงินรักษากว่าล้านบาท มีแต่ข้าราชการที่เบิกได้ เสนอรัฐบาลลดเหลื่อมล้ำมะเร็งคู่ไตและเอดส์ ปรับสิทธิประโยชน์ การจ่ายเงิน และยาเป็นมาตรฐานเดียวกัน แนะทางแก้จัดกระบวนการต่อรองราคายาและจัดซื้อยารวม ใช้งบเพิ่มไม่มากจากที่จ่ายให้ข้าราชการอยู่แล้ว แต่จะขยายครอบคลุม 30 บาทและประกันสังคมด้วย

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาล 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐนั้น เป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม ซึ่งหลังจากเริ่มนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวแล้ว ทราบว่ารัฐบาลจะลดความเหลื่อมล้ำโรคเอดส์และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต่อไป ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเสนอให้รัฐบาลควรดำเนินการสร้างความเสมอภาคการรักษาโรคมะเร็งของ 3 กองทุนสุขภาพโดยเร่งด่วนด้วย เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2548-2552 มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด 56,058 คน คิดเป็นอัตราการตาย 88.34 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ อุบัติเหตุและการเป็นพิษ 35,304 คน คิดเป็น 55.63 ต่อ 100,000 คน และลำดับที่สามคือ โรคหัวใจ 18,375 คน คิดเป็น 28.96 ต่อ 100,000 คน

นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า แต่จากการศึกษาสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งของ 3 กองทุนพบว่ามีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย มีความต่างกันทั้งเรื่องวิธีการจ่ายเงิน ที่สวัสดิการข้าราชการจ่ายเงินแบบไม่จำกัด (Fee for service) ขณะที่ 30 บาท และประกันสังคมจ่ายตามอัตราที่กำหนด และเมื่อพิจารณาถึงยาที่ใช้ในการรักษา พบว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก ในโรคเดียวกันแต่ 30 บาท และประกันสังคมไม่ได้รับยาตัวเดียวกับที่ข้าราชการได้รับ ส่งผลให้ผู้ป่วยใน 2 ระบบที่เข้าไม่ถึงยาจำเป็นต้องเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร จากการศึกษาราคายา 6 ชนิด ในการรักษามะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยาที่ใช้รักษามะเร็งที่ได้ประสิทธิผลดีมีอัตราการรอดชีวิตสูงนั้นเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักทั้งหมด ซึ่งทำให้สิทธิ 30 บาท และประกันสังคมเข้าไม่ถึงยาเหล่านี้ มีเพียงข้าราชการที่เบิกได้ แต่ในระบบ 30 บาทนั้น มีโครงการพิเศษกับบริษัทยา จึงทำให้ผู้ป่วย 30 บาทได้ใช้ยาบางชนิด แต่วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เมื่อหมดโครงการพิเศษ ผู้ป่วยก็จะไม่ได้ใช้ยานี้

“ยกตัวอย่าง ยารักษามะเร็งเต้านม Trastuzumab (Herceptin) ราคาต่อหน่วย 98,340 บ. ต่อคอร์สการรักษาใช้เงิน 1,180,080 บาท ยาที่ใช้รักษามะเร็งปอด Erlotinib (Tarceva) มีราคาเม็ดละ 3,086 บาท ค่ายาต่อคอร์ส 1,126,390 บาท และยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง Rituximab (Mabthera) เข็มละ 69,157 บ. ค่ายาต่อคอร์ส 829,884 บาท ซึ่งทั้งหมด สิทธิ 30 บาท และประกันสังคมไม่ได้ยาเหล่านี้ มีเพียงข้าราชการที่ได้รับยาเท่านั้น” นพ.พงศธร กล่าว

นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่ามียาแต่ไม่สามารถใช้ได้เป็นเรื่องเจ็บปวดมาก แม้ยาจะมีราคาแพงมาก แต่ข้ออ้างว่าไม่มีงบประมาณนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการจัดการที่จะทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้ คือ การจัดซื้อยารวม ซึ่งสปสช.เคยทำมาแล้ว ในปี 2552 คณะอนุกรรมการเข้าถึงยาของสปสช.ได้พิจารณายา Rituximab (MabThera) ที่มีปัญหาในการเข้าถึง 2 กลุ่มโรคได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Non-Hodgkin’s lymphoma : NHL) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis: RA) ผลการเจรจาต่อรองพบว่า บริษัทยายอมลดราคายาลงถึง 60% จากเข็มละเกือบ 7 หมื่นบาท เหลือ 25,000 บาท ดังนั้นจะเห็นว่า การมีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการต่อรองราคายาและการจัดซื้อยารวม จะทำให้ประหยัดงบประมาณ ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วย 30 บาท และประกันสังคมได้ ดังนั้นจึงขอเสนอให้รัฐบาล

1. ปรับสิทธิประโยชน์ และแบบแผนการรักษา (protocol) มะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ที่ทุกคนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั้ง 3 ระบบ

2. ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการเป็นอัตราเดียวกันทั้ง 3 กองทุน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาแพง เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยในขอให้จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

3. ให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรู้การส่งเสริมป้องกันโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อการรักษาตั้งแต่เป็นระยะแรกซึ่งจะลดการสูญเสียได้มากกว่าการเป็นระยะลุกลาม

“นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพถือได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำยากกว่าการทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงอยากเรียนคุณยิ่งลักษณ์ว่า ไม่ว่าใครจะว่าคุณอย่างไรก็ตาม หากคุณยิ่งลักษณ์ กล้าตัดสินใจ เดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จ ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อคุณยิ่งลักษณ์ไว้ตลอดกาล” นพ.พงศธร กล่าว