ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุขไทยและมาเลเซีย จัดประชุมร่วมมือแก้ปัญหาสาธารณสุขชายแดน ปีนี้เน้นหนัก 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ ความปลอดภัยด้านอาหารและยาตามแนวชายแดน และปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิ โรคเลปโตสไปโรซิส และการเตรียมการรองรับอุบัติเหตุ/อุบัติภัย

วันนี้ (19 มิถุนายน 2555) ที่โรงแรมเดอะแฟร์เฮาส์บีช รีสอร์ท อ.เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎรธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 25 ระหว่าง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และ 4 รัฐของประเทศมาเลเซีย (The 25 Thailand – Malaysia Border Health Goodwill Committee Meeting) จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมกับรัฐเคดาห์ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2555 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และแนวทางดำเนินงานแก้ไขปัญหาสาธารณสุขร่วมกันทั้งสองประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และบุคลากรสาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา นายแพทย์สาธารณสุขของรัฐต่างๆ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (State Director of Health) ใน 4 รัฐชายแดนของมาเลเซียได้แก่ รัฐเปรัค รัฐกะลันตัน รัฐเปอร์ลิส และรัฐเคดาห์ รวมทั้งสิ้น 215 คน

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เพื่อร่วมมือกันควบคุมป้องกันโรคและปัญหาด้านสุขภาพด้านอื่นๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือด้านสาธารณสุขแดนไทย-มาเลเซีย ได้จัดประชุมร่วมกันทุกปี ในปีนี้เน้นหนัก 2 ด้าน คือ ด้านอาหารและยา ซึ่งขณะนี้มีปัญหาเรื่องการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งการนำไปผสมเป็นยาเสพติดสูตรต่าง ๆ และการลักลอบใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด เป็นต้น และปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การควบคุมป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู ตั้งแต่เดือนมกราคม - 9 มิถุนายน 2555 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 945 ราย เสียชีวิต 20 ราย โดยอัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่ภาคใต้ พบ 3 รายต่อประชากร 100,000 คน

ทั้งนี้ หัวข้อการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยา ตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย ได้แก่เรื่อง การศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชาและพฤติกรรมการบริโภคชาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โปรแกรมการควบคุมกำกับผู้ประกอบการอาหารของประเทศมาเลเซีย (Food Handlers Monitoring Program) การใช้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ไม่ถูกต้องของมาเลเซีย (Psychotropic Substance Abuse) และเภสัชกรรมคลินิก (Clinical Pharmacy Services) 2.การดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุอุบัติภัยต่างๆ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของมารดาและทารกไทยในประเทศมาเลเซีย การควบคุมป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และระบบการคัดกรองผู้บริจาคโลหิตที่มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ และการดูแลป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยว

ด้านนายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทยและมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ความร่วมมือในระยะต้นๆ เน้นเฉพาะไข้มาลาเรีย ต่อมาได้ขยายขอบเขตการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขให้กว้างขึ้น โดยประเทศไทยและมาเลเซียจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุม มี 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย จับคู่กับ 4 รัฐของมาเลเซีย รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพรองดำเนินการประชุมฯ ดังนี้ จังหวัดยะลา - รัฐเปรัค นราธิวาส – รัฐกะลันตัน สตูล - รัฐเปอร์ลิส และสงขลา - รัฐเคดาห์