ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบท วอนผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ “รมต.-ปลัด สธ.” เหตุส่อประพฤติมิชอบกรณีงบเงินกู้ดีพีแอล วางเฉยจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์

วันนี้ (19 มิ.ย.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อม ผอ.รพ.ชุมชน และเจ้าหน้าที่ รพ. ประมาณ 100 คน แต่งชุดดำ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรม รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข อันอาจส่อเจตนา เอื้อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการ

นพ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ดีพีแอล ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 3,426,100 บาท ต่อมาวันที่ 13 ธ.ค.2554 ขอให้ส่วนราชการทบทวนความจำเป็น เหมาะสมคุ้มค่าเพื่อให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2555 ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนความจำเป็นและแจ้งยืนยันไปที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้บริหารทั้ง 2 คนกลับไม่สนใจ ในการประชุม ครม.วันที่ 12 มิ.ย.2555 กระทรวงการคลังจึงขอให้ ครม.สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันการใช้งบประมาณภายในวันที่ 15 มิ.ย.2555 มิฉะนั้นจะจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปให้โครงการอื่น

 “กระทรวงสาธารณสุขไม่ดำเนินการใด ๆ ส่งผลให้งบประมาณที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จะมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพมาตรฐานตกไป ทำให้ รพ.กว่า 900 แห่งขาดแคลนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ขาดมาตรฐานบริการ กลายเป็น รพ.อนาถา ขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่มีการต่อรองราคาแล้ว เช่น กรณีการซื้อเครื่องหายใจของ รพ.159 แห่ง 344 เครื่อง มูลค่า 257,572,600 บาท ทราบมาว่าเหตุผลที่ยังไม่ยืนยันการใช้งบประมาณเพราะมีการกล่าวอ้างนายกฯให้ปรับลดงบประมาณลง แต่หลายบริษัทให้ข้อมูลว่าถูกบางฝ่ายเรียกไปให้ปรับลดงบประมาณมิฉะนั้นจะตัดงบประมาณตรงนี้ จึงคิดว่าน่าจะเป็นเงินทอนมากกว่า”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ขอให้มีการตรวจสอบกรณีส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริตงบค่าเสื่อมของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ ร้อยละ 10   เช่น ตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์จำนวน 39.3 ล้านบาท ทั้งที่ราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 ล้านบาท การอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาท  ทั้งที่หลายหน่วยงานเพิ่งซื้อเครื่องละ 3.4-3.5 ล้านบาท ทั้งนี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อให้ดำเนินการเช่นกัน

ที่มา: http://www.dailynews.co.th