ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร ได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นมาตรฐานเดียว สำหรับผู้ป่วยทุกกองทุนโดยไม่ถามสิทธิ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยไปอีกขั้น ซึ่งได้รับคำชมเชยอย่างมากจากทุกภาคส่วน และยังถือได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ทีเดียว

ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการประชุมลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพอีกครั้ง โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีวาระที่สำคัญ คือ การรักษาโรคเอดส์และไตวายเรื้อรังมาตรฐานเดียวในโอกาสนี้อยากจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้เพิ่มการรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุนด้วย โดยมีเหตุผลดังนี้

1) มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2548-2552 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย คือโรคมะเร็ง ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดทั้งสิ้น 56,058 คน คิดเป็นอัตราการตาย 88.34 ต่อ 1 แสนคน รองลงมา คืออุบัติเหตุและการเป็นพิษ 35,304 คน คิดเป็น 55.63 ต่อ 1 แสนคน โรคหัวใจ 18,375 คน คิดเป็น 28.96 ต่อ 1 แสนคน ตามลำดับ จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่ามะเร็งเป็นทุกข์อันดับ 1 ของคนไทย

2) สิทธิประโยชน์การจ่ายเงินให้หน่วยบริการ แนวทางการรักษา และการเข้าถึงยาราคาแพงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่ครอบคลุมผู้มีสิทธิจำนวน 5 ล้านคนนั้นมีสิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการตลอดจนการเข้าถึงยาราคาแพงดีที่สุด โดยจะขอยกตัวอย่างราคาแพงจำนวน 6 ชนิด อยู่ภายใต้ "โครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายสูง(OCPA)"ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการฯ ที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลางมีรายละเอียดดังตารางที่ 1 ดังนี้

ตารางที่ 1 ความแตกต่างในการเข้าถึงยามะเร็ง ระหว่างผู้ป่วย 3 กองทุน

 

ชื่อยา

สำหรับรักษา

ราคา

ต่อหน่วย

ค่ายา/ปี

ข้าราชการ

บัตรทอง

ประกันสังคม

Rituximab

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

69,157.00

เข็ม

829,884.00

ได้

ไม่ได้**

ไม่ได้**

Trastuzumab

มะเร็งเต้านม

98,340.00

เข็ม

1,180,080.00

ได้

ไม่ได้**

Bevacizumab

มะเร็งลำไส้

21,602.50

เข็ม

1,036,920.00

ได้

ไม่ได้**

Imatinib

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง

4,094.00

เม็ด

1,494,310.00

ได้

ยาฟรีจากบริษัทยา

มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ (GIST)

4,094.00

เม็ด

1,494,310.00

Erlotinib

มะเร็งปอด

3,086.00

เม็ด

1,126,390.00

ได้

ไม่ได้**

Gefitinib

มะเร็งปอด

2,463.00

เม็ด

898,995.00

ได้

ยาฟรีจากบริษัทยา

 

 

หมายเหตุ : *โครงการยาฟรีได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยา มีเงื่อนไข1) ผู้ป่วยมีสัญชาติไทย 2) โครงการประกันสุขภาพยังไม่ครอบคลุม 3) ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 4) ไม่ได้สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เองและไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากที่ใดทั้งสิ้น

**ไม่ได้ยาเนื่องจากเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่โรงพยาบาลอาจพิจารณาให้ได้เอง

หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่างๆ วิธีการจ่ายเงินและอื่นๆแล้วพบว่าระบบประกันสังคมด้อยที่สุด เพราะระบบประกันสังคมเพิ่มจะจัดระบบและประกาศใช้แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเมื่อปลายปี2554 โดยใช้วิธีลอกแนวทางการรักษาผู้ป่วยและอื่นๆมาจากบัตรทองทั้งสิ้น

1) คุณภาพการรักษา โดยพิจารณาจากอัตราการรอดเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆระหว่าง 2 ระบบ คือ บัตรทองและประกันสังคมโดยใช้ข้อมูลปี 2552 และ 2553 พบว่า โรคมะเร็งตับ ผู้ป่วยของบัตรทองมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 12.4 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 52.9 และ50.5 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคมมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 5.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.6 และ 12.4 ตามลำดับ โรคมะเร็งปอดพบว่าผู้ป่วยของบัตรทองมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.6 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 63.3 และ 60.2 ตามลำดับ

ผู้ป่วยระบบประกันสังคมมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 7.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.5 และ 17.2 ตามลำดับ มะเร็งปากมดลูก พบว่าผู้ป่วยบัตรทองมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 20.1 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 89.1 และ 85.0 ตามลำดับและผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.8 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปีและ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 75.0 และ 64.5 ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมนั้น ผู้ป่วยภายใต้บัตรทองได้รับการดูที่ดีกว่าระบบประกันสังคม

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของคนไทย การได้รับยาราคาแพง รวมทั้งคุณภาพการรักษาขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ภายใต้กองทุนอะไร ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ คือ

1) ปรับสิทธิประโยชน์และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพงที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 ระบบ

2) ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการให้เป็นอัตราเดียวกัน ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะผู้ป่วยในขอให้จ่ายอัตราต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative Weight, RW) ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

3) ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ (Primary Prevention) และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง (Risk Group Finding) เช่น การตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ในตับการใช้สารเคมีในอาหาร เป็นต้น เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้เป็นมะเร็ง

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า มะเร็งนั้นเป็นทุกข์อันดับ 1 ของคนไทยในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมียาใหม่ๆ ดีๆ แต่คนไทยกว่า 60 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิเข้าถึง มีเฉพาะข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลือหากอยากได้ยาก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้ยาราคาแพงเหล่านี้

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่