ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุดพบ 1 ใน 10 ของกลุ่มวัยแรงงานไทยอายุ 15-59 ปี ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เปิดโครงการส่งเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยงวัยทำงาน ให้ปลอดโรค ปลอดภัยกายใจเป็นสุข เริ่มในปี 2555 นี้ ในสถานประกอบการจังหวัดละ 1 แห่ง เผยขณะนี้วัยทำงาน 1 คนจะใช้ชีวิตในที่ทำงานเฉลี่ย 53,000 ชั่วโมง

เช้าวันนี้ (20 มิถุนายน 2555) ที่ โรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมมหกรรมเปิดตัวและประชาสัมพันธ์ “โครงการวัยทำงาน ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความรับร่วมมือจาก กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งต้องการนำเสนอ “เกณฑ์สถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” เพื่อให้สถานประกอบการต่างๆ นำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของวัยทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

นายวิทยากล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีนโยบายลดโรค เพิ่มสุขให้แก่ประชาชนไทยทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ในกลุ่มของวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวและเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศมีมากเกือบ 40 ล้านคนหรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการดูแลสุขภาพวัยทำงาน ให้ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข เนื่องจากต่อวันวัยทำงานจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน 8-9 ชั่วโมง ตลอดอายุจะใช้เวลาทำงานเฉลี่ยประมาณ 53,000 ชั่วโมง ดังนั้นสถานที่ทำงานจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตและสุขภาพคนวัยนี้อย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองก็ว่าได้ หากแรงงานมีสุขภาพดี แล้วย่อมส่งผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสุขภาพก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ

ผลการสำรวจสุขภาพแรงงานไทยล่าสุดในปี 2552 พบว่า กว่า 1 ใน 10 ของวัยแรงงาน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ที่พบสูงสุด 3 อันดับแรกคือ โรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 32 รองลงมาโรคเบาหวานร้อยละ 21 และโรคทางเดินหายใจเรื้อรังเช่นภูมิแพ้ร้อยละ 19 และพบว่ากว่า 1 ใน 4 ของการบาดเจ็บเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 27 นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ตลอดจนปัญหาสุขภาพอันเกิดจากการทำงาน เช่น วัตถุหรือสิ่งของบาด ทิ่มแทงอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น

นายวิทยากล่าวต่อว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าว จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เน้นเป้าหมายหลัก 3 เรื่องคือ ไม่ให้วัยทำงานเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง ป่วยจากการทำงาน และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยจะมีการให้ความรู้การบริโภคอาหารที่สมดุล รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมการออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และจัดสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้สะอาด ปลอดภัย น่าทำงาน ในปีแรกนี้ตั้งเป้าเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งสถานประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และจะประเมินผลหลังดำเนินการแล้ว 6 เดือน – 1 ปี เพื่อมอบเครื่องมายรับรองคุณภาพเป็นสถานที่ทำงานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล ประเทศไทย จำกัด และบริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ขณะนี้ประชากรโลกที่อยู่ในวัยทำงาน มีความเสี่ยงต่อเกิดปัญหาสุขภาพและความไม่ปลอดภัยจากการทำงานประมาณ 1,900 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเด็ก 170 ล้านคน และในทุกๆ ปีจะมีวัยทำงานเจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่า 160 ล้านคน โดยร้อยละ 51 เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดและมะเร็ง ร้อยละ 8 บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และอีกร้อยละ 8 เกิดความเครียดจากการทำงาน

สำหรับเกณฑ์สถานประกอบการให้ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข นั้น จะยึดกรอบแนวคิด Healty Workplace 2008 ขององค์การอนามัยโลก และส่วนหนึ่งดัดแปลงมาจาก แนวทางสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ของกรมอนามัย โดยในส่วนของพนักงาน จะมีการตรวจสุขภาพและบันทึกข้อมูลรายบุคคล ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมลด ละ เลิกสิ่งเสพติด บุหรี่ สุรา ยาเสพติด และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ส่วนสถานประกอบการจะเน้นที่การสร้างความปลอดภัย ทั้งเรื่องแสงสว่าง เสียง การกำจัดขยะ น้ำเสีย ห้องน้ำ ห้องสุขา ระบบการระบายอากาศ การจัดการสารเคมี การป้องกันอัคคีภัย การควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค เป็นต้น

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพของกลุ่มวัยทำงานมีความสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัว เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต จะมีประชากรกลุ่มวัยเด็กและสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงวัยทำงาน ในปี 2553 วัยแรงงาน 100 คน เฉลี่ยต้องดูแลวัยพึ่งพิง 48 คน และจะเพิ่มเป็น 60 คนในอีก 15 ปีข้างหน้าจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดประเทศไทยมีผู้ที่ทำงานในระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประมาณ 15 ล้านคน มีสถานประกอบการทั่วประเทศ 389,953 แห่ง