ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวถึงการขยายสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมะเร็งด้วย เนื่องจากปัจจุบันการรักษาพยาบาลใน 3 กองทุนสุขภาพมีความแตกต่างกันมาก ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยจากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กองทุนของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆ นั้น พบว่าระบบบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 กองทุนมีความเหลื่อมล้ำ มีสิทธิประโยชน์ต่างกันโดยเฉพาะเรื่องยา รวมถึงวิธีจ่ายเงินและอัตราการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ มีวิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละระบบได้รับการดูแลที่ต่างมีอัตราการเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร

นพ.พงศธรกล่าวว่า จากการเปรียบเทียบคุณภาพการรักษาพยาบาลระหว่างผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง กับสิทธิประกันสังคม (สปส.) โดยพิจารณาจากอัตราการรอดชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากในประชากรไทย โดยใช้ข้อมูลปี 2552 และ 2553 ซึ่งแต่ละระบบมีการรวบรวมไว้นั้น พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งในสิทธิ 30 บาทมีอัตรารอดชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งในสิทธิ สปส. ดังนี้ 1.โรคมะเร็งตับ ผู้ป่วยของบัตรทองมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 12.4 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 52.9 และ 50.5 ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 5.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.6 และ 12.4 ตามลำดับ

2.โรคมะเร็งปอด พบว่าผู้ป่วยของบัตรทอง มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.6 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 63.3 และ 60.2 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 7.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.5 และ 17.2 ตามลำดับ 3.มะเร็งปากมดลูก พบว่าผู้ป่วยบัตรทอง มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 20.1 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 89.1 และ 85.0 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.8 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 75.0 และ 64.5 ตามลำดับ

นพ.พงศธรกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมนั้นผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการดูแลที่ดีกว่าระบบประกันสังคม เนื่องจากระบบบัตรทองนั้นจัดระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตามมาตรฐานการรักษา มีอัตราการเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสำหรับการรักษาในกรณีต่างๆ รวมถึงการได้รับยา ขณะที่ระบบประกันสังคมไม่มีระบบการจัดกระบวนการรักษาตามมาตรฐานให้กับโรงพยาบาล ปล่อยให้จัดการเอง ซึ่งโรงพยาบาลต้องคำนึงถึงต้นทุนการรักษา ซึ่งเป็นจุดอ่อนของ สปส. กระทั่ง สปส.ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินสำหรับโรคมะเร็ง 7 โรคให้เหมือนกับที่บัตรทองเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 และเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินกลุ่มโรคร้ายแรงเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555

"ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์ว่า การที่แต่ละกองทุนมีระบบบริหารจัดการการรักษาพยาบาลที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยในระบบที่มีการจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพต้องเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร รัฐบาลควรสร้างความเสมอภาคการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 กองทุน" นพ.พงศธรกล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 23 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--