ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ยิ่งลักษณ์" สั่งทบทวนบังคับเก็บ 30 บาท เลขาธิการแพทย์ชนบทชี้ควรสั่งบอร์ด สปสช.ยกเลิกความคิดแทนเหตุเหมือนพายเรือในอ่าง ผลักภาระให้โรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยไตวายร้องสามกองทุนยังไม่เท่าเทียม

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ได้ทราบรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุนประกันสุขภาพโดยประเด็นสำคัญในการหารือนอกจากเรื่องสร้างความเท่าเทียมของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อ HIV ยังมีเรื่องที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอมติบอรด์ สปสช.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเสนอให้มีการบังคับเก็บ 30 บาท จากผู้ป่วยที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลประจำจังหวัดขึ้นไป ยกเว้นผู้ที่สังคมควรให้การช่วยเหลือเกื้อกูลโดยจะเริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป แต่นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นว่าระบบและคุณภาพการให้บริการในปัจจุบันยังไม่พร้อม จึงขอให้บอรด์ สปสช.กลับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะเก็บ 30 บาทจากผู้ป่วยหรือไม่ เมื่อโรงพยาบาลมีการพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว

“ต่อผลสรุปให้ทบทวนเก็บ 30 บาท ดังกล่าวที่ให้โรงพยาบาลตัดสินใจเองว่าจะเก็บ 30 บาท จากผู้ป่วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี น่าจะสั่งให้บอรด์ สปสช. ยกเลิกความคิดที่จะเก็บ 30 บาทไปเลย เพราะนักวิชาการและผู้ใหญ่ในประชาคมสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็น อ.อัมมาร สยามวาลา หรือ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความเห็นชัดเจนว่าการกลับมาเก็บ 30 บาท อีกครั้งเหมือนพายเรือในอ่าง กลับไปกลับมา ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่เพิ่มช่องว่างสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยบัตรทองที่ต้องเสีย 30 บาท แต่ผู้ป่วยข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายอะไรเลย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ข้อสรุปที่ประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยิ่งแย่ไปใหญ่ เป็นการผลักภาระ โยนบาปให้โรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณา ตัดสินว่าจะเก็บเงิน 30 บาท จากคนไข้หรือไม่ ทำให้โรงพยาบาลต้องเผชิญหน้าขัดแย้งกับผู้ป่วย โดยรัฐบาลลอยตัวเพียงต้องการให้มีการเก็บ 30 บาท เพื่อเป็นโลโก้ทางการเมืองเท่านั้น และที่นายกรัฐมนตรี ฝากให้โรงพยาบาลต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มให้บริการมากขึ้น มีการขยายบริการนอกเวลา นอกสถานที่เพิ่มขึ้น อยากถาม รมว.สาธารณสุขว่าจะทำได้จริงหรือ และจะทำอย่างไร ในเมื่อปีนี้ รพ.จำนวนมากประสบภาวะน้ำท่วม เครื่องมือทางการแพทย์เสียหายแต่งบเหมาจ่าย สปสช. ปี 2555 นี้กลับถูกปรับลดลงร้อยละ 5 เพื่อช่วยน้ำท่วม และปีหน้า 2556 รัฐบาลจะคงให้งบเหมาจ่ายคงที่เท่ากับปีนี้ที่ถูกปรับลดลงแล้ว ขณะที่ รพ.ต่างๆ โดยเฉพาะ รพ.ชุมชนขนาดเล็ก มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จากการขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างตามนโยบายของรัฐบาล และภาวะเงินเฟ้อ

“แถมงบครุภัณฑ์ทางการแพทย์กว่า เจ็ดพันล้านบาท ของโครงการไทยเข้มแข็งเดิมที่รัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นไว้กลับถูกระทรวงสาธารณสุขเตะถ่วงไว้อย่างไม่มีเหตุผล รวมทั้งงบลงทุนค่าเสื่อมกว่าห้าร้อยล้านบาท และงบช่วยน้ำท่วมอีกกว่าสามร้อยกว่าล้านบาท ที่บอร์ด สปสช. ชุดใหม่ยกให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ จัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ รพ.ต่างๆ แต่กลับมีกระบวนการของคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับพ่อค้ากำลังหาประโยชน์จากงบทั้งสองก้อนนี้ เหมือนกรณีทุจริตยาที่อื้อฉาวในอดีตที่ผ่านมา แบบนี้คุณภาพบริการของ รพ.ต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะพัฒนาดีขึ้นได้อย่างไร คาดได้เลยว่าปีหน้า รพ.ต่างๆ จะมีภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างแน่นอน และระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา 10 ปี จะถดถอยและพังทลายลง กลายเป็นระบบอนาถาของคนจนที่ถือบัตรทอง”เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าว

นายสหรัฐ ศราภัยวนิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมติที่ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นี้ ที่ให้สามกองทุน ใช้มาตรฐานทางการแพทย์เดียวกันในการวินิจฉัยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และให้มีการคงวิธีการทดแทนไตให้ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนสิทธิเปลี่ยนกองทุนก็ตาม ต่อเรื่องนี้ ผู้ป่วยไตวายทุกสิทธิรู้สึกงง และผิดหวังกับมติดังกล่าว เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ผู้ป่วยไตวายของทั้งสามกองทุนมีความเท่าเทียมกัน นายกรัฐมนตรีน่าจะรู้ว่าขณะนี้ทุกสิทธิใช้มาตรฐานการวินิจฉัยโรคไตวายของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยไม่ต่างกันอยู่แล้ว และทุกกองทุนก็มีแนวปฏิบัติ ที่ให้มีการทดแทนไต ด้วยวิธีเดิม เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสิทธิจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่งอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มใหม่ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน

“สิ่งที่ไม่เท่าเทียมกัน ที่ผู้ป่วยไตวายรอคอยการแก้ไขอยู่ และทั้งสามกองทุนยังให้ไม่เท่ากัน เช่น ผู้ป่วยฟอกเลือด ระบบประกันสังคม จ่ายให้ รพ. ครั้งละ 1,500 บาท ส่วนเกินให้ผู้ป่วยจ่ายเพิ่มเอง ขณะที่ระบบ สปสช. จ่ายครั้งละ 1,500 สำหรับผู้ป่วยทั่วไป แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคแทรกซ้อน จ่ายครั้งละ 1,700 บาท และห้าม รพ.เก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามต้องใช้วิธีผ่านทางช่องท้องก่อน ส่วนสวัสดิการข้าราชการจ่ายครั้งละ 2,000 บาท และการเข้าถึงยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงของสามกองทุนก็ต่างกัน ผู้ป่วยประกันสังคมต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ รพ. ครั้งละ 200 - 300บาท ต่อสัปดาห์ แต่ผู้ป่วย สปสช. ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และสวัสดิการข้าราชการการจ่ายชดเชยให้ รพ. ในอัตราที่สูงกว่ายาเดียวกันของ สปสช. หลายเท่าตัว ทำให้การเข้าถึงยา และเข้าถึงบริการของผู้ป่วยไตวายมีความแตกต่างกัน และยังไม่มีการแก้ไข” รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าว