ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจากทั้ง ประเทศพม่า เขมร และลาว กลายมาเป็นกลุ่มแรงงานพื้นฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมในบ้านเรามากขึ้น ปริมาณชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้แรงงานในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่องว่างที่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนไทย ทั้งหมดนี้ทำให้แรงงานต่างด้าวเริ่มมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นต่อการขับเคลื่อนกิจการของบริษัทน้อยใหญ่ในบ้านเรา

แต่ดูเหมือนว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น และที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะจากการสำรวจพบว่า แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ต่างต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ขาดสวัสดิการพื้นฐานของชีวิต และประสบปัญหาการกดค่าแรงจากนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแรงงานกลุ่มนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานภาคการผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด

ภาครัฐบาลเองได้พยายามเข้ามามีส่วนกระตุ้นให้บรรดาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศเราได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม และได้รับการประพฤติปฏิบัติเยี่ยงผู้ใช้แรงงานสัญชาติไทย อย่างเช่นการจัดทำบันทึก และลงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว การเปิดให้ทำบัตรต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และล่าสุด ได้มีการผลักดันให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิคุ้มครอง และการรักษาพยาบาล ตามมติของ ครม. เรื่องการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินงานด้านการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้แล้วเสร็จ และให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้มีบัตรประกันสุขภาพเพื่อให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

จากเวทีสาธารณะครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นที่ อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี ที่ใช้ชื่อว่า "การขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานบ้านพระเจดีย์" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวมีบัตรประกันสุขภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก้ กลุ่มแรงงานชาวพม่า ประมาณ 200 คน บุคลากรทางการแพทย์ 30 คน และกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ 12 แห่ง

การสำรวจพบว่าแรงงานพม่าส่วนใหญ่เห็นด้วย 60% เนื่องจากเห็นว่าหากมีบัตรประกันสุขภาพ ทำให้รู้สึกถึงการได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนไทยและไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนเกินที่ต้องเสีย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 90% เห็นด้วยกับการขายบัตรประกันสุขภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการเห็นด้วย 50% แต่ควรจะมีมาตรการ หรือเงื่อนไขที่ระบุชัดเจนคือ ต้องให้แรงงานมีอายุการทำงานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ถึงจะสามารถเข้าโครงการบัตรประกันสุขภาพได้ เพราะแรงงานพม่ามักเปลี่ยนงานบ่อยคือ ทำงานได้เพียง 2 - 3 วัน แล้วก็ลาออก ไปโดยไม่แจ้ง ทำให้โรงงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

คุณเสรี ทองมาก ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และรูปแบบการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ภายใต้กลุ่มโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหา สถานะบุคคลและสิทธิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่เจ้าของกิจการจะต้องหาระบบประกันสุขภาพมารองรับสวัสดิการของชาวต่างด้าวในสังกัด เพราะหากประเทศพม่าเปิดมากขึ้น คงไม่มี แรงงานคนใด อยากจะทำงานในประเทศที่มีแต่การเอาเปรียบ ดูถูก และไม่มีสวัสดิการที่ดี และไม่มีความมั่นคงในชีวิต

ปัญหาด้านหนึ่งของการสร้างระบบประกันสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าว คือเรื่องของความไว้วางใจ โดยนายรังสิมันต์ ทองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านพระเจดีย์สามองค์ กล่าวว่า "การเข้าถึงบริการประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวยังมีความหวาดกลัว หวาดระแวง เพราะบางครั้ง การประกันสุขภาพยังไม่ให้ความมั่นคงกับพวกเขาเพียงพอ ทำให้รู้สึกว่า ยังไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้อย่างเต็มที่

ฉะนั้นควรให้ความมั่นใจกับแรงงานกลุ่มนี้ด้วย โดยหากดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพ ทุกคนได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วยเช่นเดียวกับคนไทย ก็น่าเชื่อได้ว่า ในอนาคตจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศมากยิ่งขึ้น สุดท้ายผลประโยชน์ต่างๆ ก็จะอยู่กับประเทศไทย"

หากกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้รับการดูแลที่ดี และทำให้เขารักเมืองไทยเหมือนกับบ้านของตัวเอง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เขาทุ่มเททำงานให้กับองค์กร เพราะแม้จะเป็นเพียงฝ่ายผลิต หรือคนงาน แต่คนกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญไม่ใช่น้อยในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าเช่นเดียวกับผู้บริหารคนไทยนั่นเอง

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 26 มิ.ย. 55