ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ของรัฐบาลจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประชาชนผู้เข้ารับบริการอย่างไร

เรื่องนี้มีคำตอบจาก  นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า 1 ปีจากนี้ไปประชาชนจะได้อะไรจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  30 บาทรักษาทุกโรค  ว่า ได้ประโยชน์ แน่ๆ ใน 4 เรื่องหลักซึ่งเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่าSmart Health ประกอบด้วย

1.หมอใกล้บ้านใกล้ใจมาดูแลสุขภาพถึงบ้าน

เป็นการบริการสาธารณสุขที่ให้หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นบริการด่านแรกในการให้บริการประชาชน โดยทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับนั้นถือว่าเป็นหน่วยบริการแรกที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จุดนี้จะช่วยลดการกระจุกตัวของคนไข้ในโรงพยาบาล (รพ.) ขนาดใหญ่ ส่วนเชิงรุกทำหน้าที่ในการส่งเสริมป้องกันโรค มุ่งหวังให้คนไทยปลอดโรค ขณะที่หมอใกล้บ้านใกล้ใจทำมานานแล้ว ปีนี้จะต้องมีผลงานเป็นรูปเป็นร่างทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ

2.ยาดีใช้เพียงพอ

จากการสำรวจทุกปีโดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนรู้สึกว่าคุณภาพยาที่ได้รับ ไม่ดี อย่างไรก็ตาม ความไม่พึงพอใจส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากสาเหตุจากตัวยาโดยตรง แต่เป็นผลจากปัจจัยที่มีความซับซ้อนเช่น การให้บริการที่ทำให้ประชาชนไม่พึงพอใจ และการไม่รู้จักยาดีพอ เพราะความเชื่อว่าหากได้รับยาราคาแพงคือยาดี ส่วนยาของบัตรทองเป็นยาราคาถูกไม่มีคุณภาพ แทนที่จะดูผลของการรักษาพยาบาล ความเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้ยามากกว่าร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่า ยาที่ดีคือยาที่ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค ไม่ใช่ยาที่ราคาแพงเท่านั้น ขณะนี้รัฐมีความพยายามในการให้ยาโดยไม่แยกสิทธิ ไม่แยกกองทุน เริ่มจากโครงการนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และจะขยายไปยังผู้ป่วยไตวาย และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในอนาคต ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะขยายไปยังผู้ป่วยมะเร็ง

3.ไม่ต้องรอรักษานาน

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งของประชาชนในการปรับปรุงบริการ ได้แก่ การรอรับบริการที่นาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้มารับบริการผู้ป่วยนอกมีจำนวนมากทำให้รอนาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการรอคิวรักษานานในกรณีที่เป็นโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคต้อกระจก ซึ่งหากได้รับการรักษาไม่ทันการณ์ อาจทำให้โรครุนแรงมากขึ้นหรืออาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมาจึงมีโครงการพระราชกุศลต่างๆ ทั้งโครงการผ่าต้อกระจก โครงการผ่าตัดหัวใจ 8,000 ดวง ถวายเป็นพระราชกุศล 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระราชกุศล 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น ล่าสุดจัดโครงการ 70 ปีไม่มีคิว

4.การจัดการโรคเรื้อรัง

ปัญหาโรคเรื้อรังเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากโรคเรื้อรังเป็นโรคที่เมื่อเริ่มเป็นแล้วมักไม่หายขาด จะต้องให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถิติของ สธ. พบว่าประชาชนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่พบมากในคนไทย ได้แก่ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ซึ่งแนวทางสำคัญจะเน้นการตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวให้ได้ร้อยละ 80 ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างเสริมสุขภาพจะเป็นเครื่องมือป้องกันโรคได้ดีที่สุด

"ทั้งหมดจัดเป็นนโยบายที่ทุกโรงพยาบาลในระบบ 30 บาท จะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือว่า จะมีการประเมินการดำเนินการดังกล่าวอย่างไรบ้าง อาจออกมาในรูปการจัดประกวดโรงพยาบาลดีเด่น หรืออาจเป็นการประเมินระบบปกติ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลใดมีการดำเนินการข้อใดข้อหนึ่งดีเยี่ยมก็อาจมีการพิจารณางบฯเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างหารือ คาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนกันยายนนี้" นพ.วินัยกล่าว

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2555

เรื่องที่เกี่ยวข้อง