ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข เผยตั้งแต่ 1 เมษายน – 28 มิถุนายน 2555 สถิติผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกัน 3 กองทุน ใช้บริการทั้งหมด 2,714 ราย เป็นผู้ป่วยใน 1,992 ราย และผู้ป่วยนอก 732 ราย โดยจ่ายเงินชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนแล้ว 26 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท ชี้โครงการนี้ให้ผลดี ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้กว่าร้อยละ 96

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการบริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันใน 3 กองทุน โดยไม่ทวงถามสิทธิ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ว่า จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2555 มีผู้ป่วยฉุกเฉินใช้บริการรวมทั้งสิ้น 2,714 ราย เป็นผู้ป่วยใน 1,992 ราย ผู้ป่วยนอก 732 ราย

สำหรับค่าใช้จ่ายการรักษา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จ่ายเงินงบประมาณชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นเงิน 26 ล้านกว่าบาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แตกต่างจากระบบปกติทั่วไป แต่ผลที่ได้ที่เหนือและสำคัญกว่าค่าตัวเงินก็คือการรอดชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งโครงการนี้สามารถช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินพ้นขีดอันตรายและรอดชีวิตได้กว่าร้อยละ 96

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจนพ้นขีดอันตรายแล้ว จะส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติตามสิทธิที่ใช้อยู่เดิม ขณะนี้ใช้เวลาในการหาเตียงประมาณ 2 วัน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนจะขอให้พัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้เหลือระยะเวลา 1 วัน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังร่วมกันพัฒนาระบบอยู่ โดยประสานโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในเขตกทม.และปริมณฑล เช่น โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และโรงพยาบาลเอกชน 2-3 แห่งที่จะให้เตรียมเตียงไว้รับการส่งตัว จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ต้องประสานหาเตียงร้อยละ 17.42

ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในกรณีที่ยังหาเตียงรับกลับไม่ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการคำนวณหาต้นทุนการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องเป็นหลักการที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นจะสปสช.จะเสนอมาตรการดังกล่าวให้ 3 กองทุนร่วมพิจารณาต่อไป