ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ใครจะรู้บ้างว่าอาชีพพยาบาลต้องทำงานหนัก แถมความรับผิดชอบก็เยอะ แต่กลับไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ  เนื่องจากมีพยาบาลวิชาชีพกว่า 17,000 คน ยังคงเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ จากเหตุผลดังกล่าวพยาบาลหลายพันคนจึงได้รวมตัวกันเดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับผู้มีอำนาจให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล  ในฐานะพี่ใหญ่ของน้อง ๆกล่าวว่า ประเภทของพยาบาลตามใบอนุญาตมี 2 ประเภท คือ 1. ผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งเรียกว่าพยาบาลวิชาชีพ 2. ผู้ที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้น 2 เรียกว่าพยาบาลเทคนิค พยาบาลที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการหรือถูกจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวคือพยาบาลวิชาชีพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ที่ผ่านมามีการสะท้อนปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2547 ที่ไม่มีตำแหน่งราชการบรรจุ ต่อมาก็มีการสะท้อนปัญหาเรื่องของการลาออก โอน ย้ายสูง เนื่องจากความไม่มั่นคงในหน้าที่ สวัสดิการการรักษาพยาบาลก็เป็นแบบประกันสังคม ในขณะที่เงินเดือนก็ไม่ได้มาก และยังมีปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ในการศึกษาต่อ การเป็นลูกจ้างชั่วคราว ก็ไม่ได้ออกแบบว่าพยาบาลวิชา ชีพลูกจ้างชั่วคราวสามารถมีสิทธิลาศึกษาต่อได้

กระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะทยอยบรรจุให้ กรณีที่มีคนลาออก มีคนเกษียณอายุราชการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าคนเข้ามาประมาณปีละ 3-4 พันคน แต่บรรจุได้เป็นหลักร้อย ฉะนั้นก็ต้องเหลือค้างส่วนหนึ่ง อีกส่วน

หนึ่งก็ออกไป ของใหม่ก็เข้ามาทบ ทับถมกันอย่างนี้ การลาออกไปของพยาบาลจากการศึกษาพบว่าถ้าเขาไม่ได้รับการบรรจุเขาก็จะออกใน ปีแรก สิ้นปีแรกก็ออกเลยประมาณ 48% ส่วนผู้ที่ได้บรรจุแล้วก็อยู่ ปีที่ 2 ถ้ายังไม่ได้บรรจุอีกส่วนที่เหลือก็ออกอีกประมาณ 25% คนก็จะหมดแล้ว

เหมือนเราได้คนใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ กระทรวงสาธารณสุขก็เหมือนเป็นแหล่งฝึกงาน ประชาชนที่ไปใช้บริการแทนที่จะได้รับบริการจากคนที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นว่าอยู่กับคนใหม่ไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันคนเก่าที่อยู่ก็อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่มีคนใหม่มาทดแทน เพราะฉะนั้นคนเก่าที่อยู่ก็จะทำงานหนักมากขึ้น แม้กระทั่งคนใหม่ที่เข้ามา วันหนึ่งเพื่อนออกไป เขาก็ต้องรับภาระมากขึ้น เพราะว่าโรงพยาบาลของเราเปิดทุกวัน ไม่มีวันหยุด เพราะฉะนั้นต้องมีคนทำงานตลอดเวลา 24 ชม. โดยเฉพาะพยาบาล 

เมื่อประชาชนของเราเพิ่มมากขึ้น ความเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น ก็ต้องการพยาบาลที่จะมาดูแล พอขาดแคลนตำแหน่งที่จะดึงคนเข้ามาสู่ระบบ ก็ยิ่งทำให้คนที่อยู่ในระบบต้องทำงานหนักมากขึ้น เขาอาจจะต้องทำงานวันหนึ่งมากกว่า 12 ชั่วโมง ต่อวัน จากที่เคยทำการศึกษาพบว่าพยาบาลทำงานเฉลี่ย 32 เวรต่อเดือน ถ้าจะมีวันหยุดได้ก็ต้องทำงานวันหนึ่งมากกว่า 1 เวร ซึ่ง 1 เวรมี 8 ชั่วโมง 3 เวร  24 ชั่วโมง พยาบาลทำงานเป็นเวรผลัดแบบนี้ อาจจะต้องทำงานเวรเช้าคือ 8 โมงเช้า-4 โมงเย็น แล้วได้หยุดตอนบ่ายคือ 4 โมงเย็น-เที่ยงคืน แล้วเที่ยงคืนก็มาขึ้นเวรใหม่ เป็นวงจรแบบนี้ ถ้าเขาทำงานหนักขนาดนี้อย่างน้อยก็ควรสร้างความมั่นคงให้เขาด้วยการบรรจุ

ขณะนี้บ้านเรามีหมอ 1 คนต่อพยาบาล 6 คน ซึ่งแพทย์บ้านเราก็ยังขาดแคลนอยู่ พอขาดแคลนแพทย์ประชาชนก็ต้องอยู่ในความดูแลของพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นพยาบาลต้องอยู่เวรต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้องบริหารจัดการให้การดูแลที่เป็นการรักษาของแพทย์ไปถึงคนไข้ และต้องเฝ้าคนไข้ไม่ให้มีอาการรุนแรง ช่วยเหลือคนไข้เมื่อมีอาการเร่งด่วน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หมอจะเฝ้าคนไข้ ตรงนี้เป็นความสำคัญของพยาบาล ดังนั้นพยาบาลอาจเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก อาจจะตอบสนองคนไข้ช้าไปบ้าง เพราะว่าพยาบาลมีไม่พอ สัดส่วนการดูแลคนไข้ พยาบาล 1 คนดูแลคนไข้ 8 คน  ก็ต้องดูแลคนไข้หนักก่อน

สำหรับน้อง ๆ เหล่านี้ เราต้องขอบคุณในความเสียสละของเขา เพราะการเข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นการกลับบ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนในภูมิลำเนาที่อยากจะทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง ให้บริการประชาชนที่อยู่ห่างไกล  เพราะฉะนั้นเขาเสียสละระดับหนึ่ง ในขณะที่ตลาดแรงงานตอนนี้ที่เปิดรับพยาบาล มีมากขึ้น เขาอาจจะมีทางไป แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งอยู่ในภูมิลำเนาของเขา ดังนั้น ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีกำลังคนอยู่ยืนยาว ในพื้นที่เหล่านั้น จะปล่อยให้เป็นไปตามกระแสตลาดที่ไหนจ้างสูง ที่นั่นก็มีคนไปไม่ได้ เพราะว่าระบบสุขภาพไม่เหมือนปกติ รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้ามาแทรกแซงกลไกการตลาดนี้เพื่อประชาชนที่ยากจนของเราจะได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน

งานพยาบาลเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนของการดำรงชีวิตของคน ดังนั้นการที่มีพยาบาลเพียงพอ โดยเฉพาะในภาวะที่เราเจ็บป่วย ดูแลตัวเองไม่ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีพยาบาล หรือขาดแคลนอาจจะเกิดปัญหาเรื่องภาวะแทรกซ้อนได้ การดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น พยาบาลเป็นกำลังคนที่อยู่ระหว่างแพทย์กับประชาชน ที่จะตอบสนองความต้องการของคนไข้ไปถึงแพทย์ รวมถึงเรื่องที่แพทย์ให้การรักษา วินิจฉัย แพทย์สั่งยา พยาบาลเป็นคนที่ต้องเอายานั้นมาให้คนไข้ ต้องรู้ว่าปรับยาอย่างไร ต้องมีวิธีการให้อย่างไร คนไข้ถึงจะปลอดภัย เพราะว่าแพทย์ไม่ได้เป็นคนมาให้ยาเอง ตรงนี้จึงมีความสำคัญมาก.

 

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--