ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"วิทยา" เรียก "หมอเกรียง" คุยก่อนจุดคบเพลิงหน้ากระทรวงหมอ รับปากดันโครงการเงินกู้ DPL เข้าครม.พรุ่งนี้แน่ แต่ไม่รับประกันจะได้งบทั้งหมดหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของ ครม. ด้านชมรมแพทย์ชนบทยกหูล็อบบี้ "เฉลิม" ช่วยหนุนงบเครื่องมือแพทย์ที่สนับสนุนบริการผู้ป่วย สับ สธ.ขอให้งบช้า

วันนี้ (2 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราชนำแพทย์ ในฐานะอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) กว่า 200 คน เดินทางมาจุดเทียนและคบไฟ เพื่อส่งสัญญาณและเรียกร้องให้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อครุภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง อย่างการช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น เครื่องช่วยหายใจ 2.กลุ่มสนับสนุนบริการผู้ป่วย และ 3.กลุ่มสนับสนุนบริการแบบไม่สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เช่น เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโรค เครื่องเอ็กซ์เรย์ เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าสำรอง และเครื่องซักผ้า ตามโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (โครงการเงินกู้ DPL) จำนวน 3,426 ล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวอนุมัติงบส่วนหนึ่งและสอง แต่กลับไม่พิจารณางบส่วนที่สาม ซึ่งบางส่วนเป็นของรพช. กว่า 600 แห่ง ราว 800 ล้านบาท ทั้งๆที่มีรายงานเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นไม่ต่างจากกลุ่มอื่น

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากความล่าช้าของ รมว.สาธารณสุขในการขอใช้งบดังกล่าว ทั้งที่เป็นงบของ สธ.โดยแท้ เพียงแต่รอคำยืนยัน เพราะงบ DPL เป็นงบเงินกู้ของแคนาดาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งอนุมัติงบให้ สธ.ทั้งสิ้น 3,426 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้มีการประกวดราคาเรียบร้อย เหลือเพียงรอเงินมาดำเนินการ กระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล งบดังกล่าวจึงต้องมีการยืนยันตามระเบียบ ซึ่งกระทรวงการคลังเรียก สธ.ไปยืนยันรับงบฯ ถึง 3 ครั้งด้วยกัน แต่รมว.สาธารณสุขกลับล่าช้า โดยให้เหตุผลว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไปทำการทบทวนในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งตนมองว่าทบทวนอย่างไรก็ไม่ควรล่าช้าถึงเพียงนี้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังยืนยันงบตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2554 และได้รับเงินจนซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆหมดแล้ว พวกตนจึงต้องมาเรียกร้อง หลังจากเคยเรียกร้องเรื่องนี้ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็อยากเรียกร้องรมว.สาธารณสุข ให้ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

“ก่อนการรวมตัวจุดคบไฟ ตนได้เข้าหารือกับรมว.สาธารณสุข ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ประมาณ 30 นาที จึงได้ข้อยุติถึงเรื่องเดินหน้าโครงการเงินกู้ DPL โดยรมว.สาธารณสุขรับปากว่า จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ซึ่งพวกตนจะรอคำตอบว่า ครม.จะอนุมัติงบโครงการ DPL หรือไม่ ทั้งนี้จะนำรายชื่อรพช.ทั้งหมด 700 กว่าแห่งเสนอต่อกระทรวงการคลัง ในวันเดียวกันด้วย เพื่อประกอบการยืนยันว่า รพช.ต้องการเครื่องมือเหล่านี้จริงๆ” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวอีกว่า หากครม.ไม่อนุมัติ และไม่มีความชัดเจนใดๆ จะมีการพิจารณาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป โดยอาจมาเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุขอีก หรืออาจไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ต้องการเรียกร้องว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันส่งผลกระทบจริงๆ เนื่องจากเครื่องมือส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการพิจารณา เป็นเครื่องมือพื้นฐานของรพ.ทุกแห่งต้องมี ทั้งนี้ ตนยังได้นำเรื่องนี้โทรศัพท์หารือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนความจำเป็นดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม ก็รับปากให้การสนับสนุน
ทั้งนี้ โครงการงบประมาณเงินกู้ DPL ดังกล่าว ได้แบ่งออกเป็น 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการของรพ.ชุมชน ระดับปฐมภูมิ จำนวน 600 แห่ง 2.โครงการรพ.ชุมชน ระดับทุติยภูมิ จำนวน 120 แห่ง 3.โครงการรพ.ทั่วไป ระดับตติยภูมิ จำนวน 60-70 แห่ง และ 4.โครงการรพ.ศูนย์ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญอีก 27 แห่ง โดยแต่ละระดับจะได้เครื่องมือแพทย์ที่เฉลี่ยกันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง อย่างการช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่นเครื่องช่วยหายใจ 2.กลุ่มสนับสนุนบริการผู้ป่วย และ3.กลุ่มสนับสนุนบริการแบบไม่สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เช่น เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโรค โดยงบทั้งหมดรวม 3,426 ล้านบาท

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า สธ.ทำหน้าที่ตามมติ ครม. ซึ่งมีมติให้ทบทวนและจัดลำดับความสำคัญ และให้ขยายกรอบการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงเดือนกันยายน 2556 และนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเงิน การคลัง ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดูภาพรวมโครงการทั้งหมด ซึ่งในส่วนของ สธ. เป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำที่จะทำงานเรื่องการทบทวนงบประมาณ และสอบถามความจำเป็นของส่วนราชการอีกครั้งว่า ยังมีความจำเป็นหรือไม่ และจะสามารถปรับลดงบประมาณส่วนไหนลงไปได้อีกบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่องบประมาณโดยรวมของประเทศ เบื้องต้นได้จัดกลุ่มตามอันดับความจำเป็น เช่น อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ โดยจัดเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเบื้องต้นกลุ่ม 1-2 คาดว่าจำเป็นก่อน ส่วนกลุ่ม 3 ราว 800 ล้านบาทอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ทั้งหมดจะเสนอเข้าครม.วันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ครม.

ที่มา : www.manager.co.th