ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” ชี้ ต้องศึกษาข้อมูลสุขภาพคนไทย ก่อนเดินหน้าปรับภาษีน้ำหวาน-ขนมหวาน ด้านสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ชี้ โรคอ้วนมีหลายปัจจัย ข้อมูลสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล อคติมากกว่าหลักวิชาการ

วันนี้ (4 ก.ค.) ทญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการข้อเสนอการปรับขึ้นภาษีน้ำอัดลม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ว่า ขณะนี้เรื่องการดำเนินการอยู่ในขั้นของการทบทวนข้อมูลศึกษาที่ชี้ชัดว่า คนไทยบริโภคอาหารที่เป็นจังก์ฟูด ส่วนใดบ้าง แล้วแต่ละช่วงอายุจะมีการกินดื่ม เครื่องดื่ม หรืออาหารประเภทใดบ้าง รวมทั้งต้องศึกษาช่วงอายุด้วยว่า ช่วงอายุใด บริโภคเครื่องดื่มและอาหารประเภทใดออก โดยเบื้องต้นคาดว่า วัยเด็ก และวัยทำงาน จะมีพฤติกรรมบริโภคอาหารจานด่วนมากที่สุด ขณะที่สถานการณ์โรคอ้วนเบื้องต้น พบว่า เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน เพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ทญ.จันทนา กล่าวด้วยว่า เรื่องเพดานภาษีนั้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการรองลงจากการสำรวจข้อมูลภาวะสุขภาพของคนไทย ซึ่งจะเป็นเท่าใดนั้นก็ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน

ด้าน นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า เป็นที่ยอมรับกันในทางวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป ว่า ปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหารมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวัน พลังงานส่วนเกินที่ร่างกายสะสม จึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในที่สุด ซึ่งพลังงานส่วนเกิน ไม่ว่าจะมาจากอาหารประเภทใดก็ล้วนแต่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสมดุลในการบริโภคของอาหารทุกประเภทในภาพรวม มิใช่การจำกัดหรือการลดการบริโภคเฉพาะกับอาหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“รายงานการศึกษาของสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคอาหารทั่วประเทศเมื่อปี 2551 นั้น พบว่า ประชากรไทยโดยเฉลี่ยได้รับพลังงานจากการบริโภคน้ำอัดลมในแต่ละวันน้อยมาก โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.0 ของพลังงานที่ได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแต่ละวัน ในกลุ่มอายุ 6-19.9 ปี และเพียงร้อยละ 1.4 ในกลุ่มอายุ 20-64.9 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประชากรไทยโดยทั่วไปได้พลังงานจากน้ำอัดลมในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ การพุ่งเป้ามาที่น้ำอัดลมว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนนั้น จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนอคติมากกว่าหลักวิชาการ” นายวีระ กล่าว 

ที่มา : www.manager.co.th