ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมโมเวนพิค อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกจีน ครั้งที่ 4 (4 th ASEAN Plus China Health Ministers Meeting : 4th ASEAN + China HMM ) วาระการประชุมจะเน้นหนักที่ความร่วมมือด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งรัดควบคุมการบริโภคยาสูบ เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด

ในกรอบ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การพิจารณาให้นำบุหรี่ออกจากรายการสินค้ายกเว้นภาษีตามข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ( Free Trade Agreement) 2.ร่วมกันกำหนดเป้าหมายสู่อาเซียนปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซนต์ (100% Smoke Free Environment) ทั้งสถานที่ปลอดบุหรี่ และการประชุมปลอดบุหรี่ 3.ห้ามการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการห้ามทำซีเอสอาร์ (CSR: Corporate Social Responsibility) ของธุรกิจยาสูบทั้งในและนอกประเทศของตน และ 4.สนับสนุนให้ทุกประเทศมีกลไกการระดมทุนและงบประมาณที่ยั่งยืน เพื่อการรณรงค์ควบคุมยาสูบ ซึ่งอาจมาจากการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทและงบประมาณของรัฐ

ทั้งนี้ สถานการณ์การบริโภคยาสูบของ 10 ประเทศอาเซียนและจีนในปี 2553-2554 ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 427.9 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดที่มีประมาณ 1,800 ล้านคน โดยลาวมีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด ผู้ชายสูบร้อยละ 68 หญิงร้อยละ 16 ขณะที่ผู้ชายสิงคโปร์สูบน้อยที่สุดร้อยละ 25 และผู้หญิงประเทศมาเลเซียและเวียดนามสูบบุหรี่ร้อยละ 1 ส่วนผู้สูดควันบุหรี่หรือบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะในบ้านพบว่าเยาวชนอินโดนีเซียอายุ 13-15 ปี สัมผัสควันบุหรี่สูงที่สุดเฉลี่ยวันละ 5.6 ครั้ง โดย 8 ใน 11 ประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน กำหนดให้สถานที่และเจ้าหน้าที่ภาครัฐปลอดการสูบบุหรี่ โดยประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็น ประเทศที่เข้มงวดในการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่มากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ เพิ่มพื้นที่ภาพคำเตือนอันตรายการสูบบุหรี่ และกำหนดให้อยู่ส่วนบนของซองบุหรี่ ซึ่งเหมาะสมและดีที่สุด ส่วนอีก 6 ประเทศรวมทั้งจีนยังใช้คำเตือนเป็นตัวอักษร ซึ่งพื้นที่คำเตือนของประเทศไทย นับว่าใหญ่ที่สุด มีขนาดร้อยละ 55 ของพื้นที่ซอง และในเร็วๆ นี้ประเทศบรูไนมีแผนจะเพิ่มพื้นที่คำเตือนจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 75

สำหรับมาตรการห้ามการโฆษณาบุหรี่ มี 10 ใน 11 ประเทศที่มีนโยบายห้ามโฆษณาทางตรง ส่วนการห้ามโฆษณาที่จุดขายมี 2 ประเทศคือไทยและบรูไน และส่วนใหญ่จะมีมาตรการห้ามการส่งเสริมการขาย ส่วนเรื่องการห้ามทำซีเอสอาร์ ยังไม่มีประเทศใดที่ห้ามชนิดสมบูรณ์แบบ มีเพียง 4 ประเทศ คือ ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่ห้ามในบางส่วน ในมาตรการด้านภาษีบุหรี่พบว่า บรูไนขึ้นภาษีบุหรี่สูงที่สุดคือร้อยละ 72 และต่ำที่สุดในลาวร้อยละ 19.7 ขณะที่จีนมีอัตราการขึ้นภาษีในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือร้อยละ 26.2 นอกจากนี้ 3 ประเทศที่มีบุหรี่เถื่อนสูงสุดคือมาเลเซียร้อยละ 39.9 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 19.9 เวียดนามร้อยละ 15.2 น้อยที่สุดคือไทยร้อยละ 2.6 เมื่อพิจารณาด้านราคาของบุหรี่ข้ามชาติพบว่าที่ประเทศฟิลิปปินส์ราคาต่ำที่สุดราคาซองละประมาณ 28 บาท

ซึ่งล่าสุดนี้องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศใช้กลยุทธ์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ทั้งชนิดมีควันและไร้ควัน 5 ประการ ได้แก่ 1.การปกป้องสุขภาพคนที่ไม่สูบบุหรี่ 2.ช่วยคนสูบให้เลิกสูบ 3.การเตือนอันตรายยาสูบ 4.การห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการงดการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ และ 5.การเพิ่มภาษีบุหรี่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง