ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภา เล็งเสนอขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯอีก โดยเพิ่มวงเงินสูงสุดเป็น 2 ล้านบาท ชดเชยผู้ป่วยครอบคลุม 3 กองทุน ด้านเครือข่ายผู้เสียหายฯ พ้อรัฐบาลไม่ดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ลั่นครอบคลุมกว่าขยายมาตรา 41

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเพิ่มค่าชดเชยตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยให้ขยายกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพอย่างถาวร จากเดิมจ่ายเงินไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท กรณีพิการ หรือสูญเสียอวัยวะจากเดิม 120,000 เป็น 240,000 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ว่า เดิมแพทยสภาเสนอให้ขยายวงเงินสูงสุด 10 เท่าของค่าชดเชยเดิม อย่าง 200,000 บาท เป็น 2,000,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นที่สิ้นสุด และไม่เกิดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ แต่มติบอร์ด สปสช.เห็นว่า ควรนำร่องก่อน อย่างไรก็ตาม แพทยสภายังมีข้อเสนอในเรื่อง การขยายการชดเชยตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมไปยังผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ นอกเหนือจากปัจจุบันที่ใช้ได้เฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของทุกกองทุน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วม และการคุ้มครองสิทธิ ที่มี นางสุนทรี เซ่งกี่ กรรมการสัดส่วนแรงงาน บอร์ด สปสช.เป็นประธาน โดยจะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งนอกจากจะพูดคุยถึงการขยายการชดเชยครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนแล้ว ตนในฐานะหนึ่งในอนุกรรมการจะเสนอให้มีการพิจารณาขยายวงเงินชดเชยเพิ่มเติมตามข้อเสนอเดิมด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การผลักดันเรื่องนี้จะมาแทนที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...หรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังอยู่ในวาระของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่การขยายมาตรา 41 เป็นเรื่องที่ทำได้ และไม่ยุ่งยาก เพราะเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งกองทุนใหม่ ใช้เงินมหาศาลอีก

นางสุนทรี กล่าวว่า ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากเบื้องต้นมีมติเห็นชอบในหลักการให้ขยายครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน เหลือเพียงตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วม โดยต้องดึงทั้งกองทุนประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และ 30 บาท เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า เครือข่ายยังคงยืนยันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ อยู่ เพราะจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 3 กองทุน แต่รวม รพ.เอกชนด้วย ขณะที่การขยายมาตรา 41 จะไม่คุ้มครองผู้ป่วยสิทธิจ่ายเองใน รพ.เอกชน ซึ่งจริงๆ แล้ว หากเพียงรัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่อยู่ในสภาอย่างจริงจังก็ผ่านได้ แต่กลับไม่ทำ ซึ่งหากสุดท้ายยังไม่ทำอะไร และยืนยันจะเดินหน้ามาตรา 41 ขยายครอบคลุม 3 กองทุน มองว่า หากเพื่อผู้ป่วยก็ต้องยอม แต่ต้องใช้ได้จริงภายในปีนี้

ที่มา: ASTVผู้จัดการ