ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาต้านไวรัสเอชไอวี เสี่ยงเป็นหมัน! อภ.เจออิทธิฤทธิ์บริษัทยาจดสิทธิบัตรตัดหน้า พ้อผลิตไม่ได้ เตรียมทำหนังสือท้วง ชี้ หากไทยผลิตได้เอง ราคาจะถูกกว่า ช่วยผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาได้มากขึ้น ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา เตรียมระดมความเห็น 18 ก.ค.หาทางออกเรื่องนี้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า จากปัญหาที่บริษัทยามักดำเนินการขอจดสิทธิบัตรยาในรูปแบบไม่จบสิ้น (Evergreen Patent) เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม และต้องดำเนินการหาทางป้องกันด่วน เนื่องจากการทำลักษณะนี้ไม่เหมาะสมในแง่ของการจดสิทธิบัตรตัวยาใหม่ๆ เพราะเป็นการทำที่เพิ่มเติมจากตัวยาเก่า ไม่ใช่ใหม่ทั้งหมด ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดปัญหาแล้ว ล่าสุด มีบริษัทยาแห่งหนึ่งทำการขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เรียกชื่อสามัญว่า ยาสูตร TDF+FTC ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสฯ สูตรผสมระหว่างยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และเอมทริซิตาบีน (Emtricitabine) โดยยาทีโนโฟเวียร์ ไม่มีการจดสิทธิบัตรในไทย แต่เอมทริซิตาบีนมีสิทธิบัตรอยู่ การขอจดสิทธิบัตรแบบนี้จึงเป็นการจดแบบไม่จบสิ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตยารายอื่นไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ ซึ่งกรณีนี้ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ที่อยู่ระหว่างการผลิตยาดังกล่าวมีปัญหาทันที

“ขณะนี้ อภ.ผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้เช่นกัน เรียกว่ายา TDF+3TC มีคุณสมบัติเหมือนกับตัวยา TDF+FTC ทุกประการ แต่ยา 3TC ไม่มีสิทธิบัตร ซึ่งตรงนี้หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้การรับรองในการจดสิทธิบัตรบริษัทยาดังกล่าว อภ.ก็อาจจะผลิตยาสูตรนี้ไม่ได้ มีผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อแน่นอน เพราะยาตัวนี้มีประสิทธิภาพมาก ผลข้างเคียงน้อย และมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาเป็นยาสูตรแรกให้แก่ผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อใหม่ๆ รวมทั้งยาตัวนี้ยังมีประสิทธิภาพรักษาภาวะตับอับเสบบีอีก พูดง่ายๆยาดังกล่าวจะถูกนำมาใช้มากขึ้น ดังนั้น หากเราสามารถผลิตได้เองย่อมคุ้มค่า โดยหาก อภ.ผลิตเองจะมีราคาเพียงเม็ดละ 20 บาท แต่หากมีสิทธิบัตรที่ผลิตโดยบริษัทยา จะมีราคามากกว่า 50 บาทต่อเม็ดทีเดียว ซึ่งผู้ติดเชื้อต้องรับวันละ 2 ครั้ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่อยากพูดว่าเป็นเพราะคู่มือในการยื่นขอจดสิทธิบัตรไม่มีการป้องกันรูปแบบ Evergreen Patent ซึ่งตรงนี้คงต้องมีการหารือหลายฝ่าย เพื่อหาทางป้องกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเช่น อภ. ที่กำลังประสบปัญหาอยู่” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.กำลังพิจารณายื่นหนังสือทักท้วงเรื่องดังกล่าวไปยัง กรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากหากสามารถผลิตได้เองภายในประเทศก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาได้มากขึ้น เนื่องจากราคายาจะถูกลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเปิดเวทีเสวนาปัญหาการยื่นขอสิทธิบัตรยา เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ โดยจะมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา อภ.เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ภาคประชาชนต่างๆ ซึ่งรวมแล้วกว่า 100 คนเข้าร่วมครั้งนี้

ที่มา: ASTVผู้จัดการ