ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์จุฬาฯ ย้ำเชื้อมือเท้าปาก มีหลายสายพันธุ์ มีความรุนแรงต่างกัน เตือนเฝ้าระวังคนเป็นโรคสมองอักเสบ อาจติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสได้ ด้าน ผอ.โรคอุบัติใหม่ เผย ทุกกลุ่มอายุเสี่ยงเป็นมือเท้าปากหมด แต่ผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานโรคมากกว่า ขอประชาชนอย่างตื่นตระหนก และเชื้อมาตรการของ สธ.

จากการประชุมปรึกษาหารือ เรื่องโรคมือเท้าปาก ชนิดที่มีอาการรุนแรง โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) เป็นประธาน พร้อมด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ รวมทั้งกุมารแพทย์จากทุกภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ได้มีการพูดถึงวิวัฒนาการเชื้อไวรัสมือเท้าปาก รวมทั้งมาตรการป้องกันเชื้อในอนาคต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีการเฝ้าระวังมือเท้าปากมาตลอด 10 ปี ซึ่งไวรัสนี้เป็นครอบครัวใหญ่ มี 4 กลุ่ม คือ A B C และ D โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำการเฝ้าระวังอย่างดีเยี่ยม ซึ่งภาวะมือ เท้า ปากนี้ ไม่ได้เกิดจากแค่เอนเทอโรไวรัส 71 เพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้หลายสายพันธุ์ เช่น คอกซากี เอ็กซ์โค ทั้งนี้ สำหรับวิวัฒนาการของเชื้อ พบว่า รุนแรงขึ้นในลักษณะแตกต่างกัน โดยอาการที่รุนแรงสุด คือ อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ แต่พบไม่มาก โดยปี 2517 ประเทศไทยได้เจอไวรัสเอนเทอโร 70 ที่มีอาการตาแดง แขนขาอ่อนแรง เหมือนโปลีโอ ซึ่งอาการเหล่านี้หากเป็นหมอทางสมองจะดูออกว่า เกิดจากเชื้อชนิดนี้ แต่หลังจากนั้น เชื้อเอนเทอโรไวรัส สายพันธุ์ 70 ได้พัฒนาไปกลายเป็นสายพันธุ์ 71

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์จะไม่เหมือนกัน โดยสายพันธุ์ 70 ทำลายไขสันหลัง ขณะที่สายพันธุ์ 71 ทำลายก้านสมองที่ส่งผลต่อระบบการทำงานสติสัมปชัญญะ การเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมไปการอุดน้ำไม่ให้รั่วไปที่ปอด ป้องกันน้ำท่วมปอด ซึ่งหากป้องกันไม่ได้จะทำให้ช็อก กล้ามเนื้อหัวใจไม่ปกติ แต่ที่ผ่านมา สธ.ควบคุมได้ดีเยี่ยม เพราะมือเท้าปาก ไม่ได้เกิดในปีนี้ปีแรก แต่เกิดขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยหลักพันถึงหลักหมื่น แต่ไม่มีอาการแทรกซ้อนเหมือนอย่างต่างประเทศ ทั้งที่ มาเลเซีย กัมพูชา และ จีน ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดหนัก

นอกจากนี้ อยากให้มีการเฝ้าระวังสมองอักเสบในผู้ใหญ่ ตั้งแต่คนอายุ 14 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบว่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มนี้และเก็บส่งตรวจหาเชื้อเอนเทอโรไวรัสจำนวน 930 ราย ในจำนวนนี้เจอผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวก 4 ราย ซึ่งมีจำนวนน้อย โดยทั้งหมดอาการไม่รุนแรง แต่ในทางระบาดจำเป็นต้องเฝ้าระวังทั้งหมด เพื่อติดตามวิวัฒนาการของเชื้อ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักติดต่อโรคอุบัติใหม่ คร.กล่าวว่า ประเด็นที่หลายคนวิตกเรื่องการติดเชื้อจากเด็กไปผู้ใหญ่ จริงๆ แล้วเชื้อนี้โอกาสการติดเชื้อเท่ากันหมดทุกกลุ่มอายุ เพียงแต่ในผู้ใหญ่จะมีภูมิต้านทานโรคมากกว่า ดังนั้น โอกาสการติดเชื้อเป็นไปได้น้อย ส่วนกรณีที่มีรายงานพบผู้ใหญ่ 4 รายป่วยด้วยโรคดังกล่าว เรื่องนี้เป็นรายงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่รุนแรง โดยข้อมูลนี้เป็นรายงานเก่า จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก ขอให้เชื่อมั่นมาตรการของ สธ.

ที่มา ASTVผู้จัดการ