ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อีกราว 1 สัปดาห์ ประชาชนคนไทยทุกคนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จะต้องกลับมาใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท รักษาทุกโรคอีกครั้ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีจุดเริ่มต้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาถูกรัฐบาลขิงแก่ปรับเปลี่ยนนโยบายจากร่วมจ่าย เป็นบัตรทองรักษาฟรี ทว่ามาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ปัดฝุ่นนโยบายร่วมจ่ายใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุผลเพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในการร่วมจ่าย นอกจากนี้ยังพัฒนาสิทธิประโยชน์ในแง่ของการให้บริการที่ดูเหมือนมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการจากปีละ 2 ครั้ง เป็น ปีละ 4 ครั้ง และสามารถรับการบริการได้ตั้งแต่ เวลา 08.00-16.00 น. ผู้ป่วยผู้สูงอายุ 70 ปี ได้รับบริการไม่ต้องรอคิว ที่สำคัญยังมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ผู้ป่วยในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้สิทธิในการรักษากรณีฉุกเฉินแบบไม่มีเงื่อนไข และในอนาคตจะมีการพัฒนาการรักษาเท่าเทียมกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

แม้แนวทางการเพิ่มคุณภาพการบริการจะดูเหมือนหอมหวาน แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลคือ ปัญหาในทางปฏิบัติจะรับมืออย่างไร? และการร่วมจ่ายครั้งนี้เงินที่กลับคืนสู่หน่วยบริการคุ้มค่าหรือไม่? หากเทียบกับต้นทุนในการรองรับระบบที่เปลี่ยนแปลง

เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ได้เรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในการเตรียมพร้อมดำเนินงานตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งบริการ ซึ่งงานนี้มีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะข้อกังวลในแนวทางปฏิบัติที่ตายตัวเกินไป เนื่องจากกำหนดชัดเจนให้มีบุคลากรด่านหน้าประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งมีบุคลากรตรวจเช็กสิทธิว่าใครอยู่ในข่ายกลุ่มยกเว้นไม่ต้องจ่าย 30 บาท หรือใครไม่อยู่ในเขต แต่กระนั้นสุดท้าย หากผู้ป่วยแสดงความจำนงไม่ขอร่วมจ่าย ก็ถือเป็นสิทธิของผู้ป่วยเช่นกัน ทำให้หลายคนมองว่า ไม่ต่างจากการเก็บเงินแบบสมัครใจ หรือการตั้งโต๊ะบริจาคที่แทบทุกโรงพยาบาลทำกันมานาน

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า เม็ดเงินจากการเก็บ 30 บาท ครั้งนี้อยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23 บาทต่อหัวประชากร ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการต้องปรับเปลี่ยนระบบการจัดการ โดยต้องมีบุคลากรในการเช็กสิทธิ การทำเอกสารข้อมูลต่างๆ ตรงนี้เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญในเรื่องการตรวจสอบสิทธิจะเป็นปัญหามาก เนื่องจากค่อนข้างยากที่จะทราบว่าใครจนจริงๆ ยิ่งเกษตรกรรายได้ไม่แน่นอน การประเมินสิทธิตรงนี้จะมีปัญหา อีกทั้งมองว่าการเก็บเงินแบบสมัครใจก็ไม่ต่างจากการบริจาค ซึ่งมีอยู่แล้ว จึงอยากให้มีการประเมินด้วยว่าหลังจากประกาศใช้นโยบายนี้ ผลลัพธ์เป็นเช่นใด

ไม่เพียงแต่ชมรมแพทย์ชนบทที่ติงเรื่องนี้ ฝ่าย ภาคประชาชน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บอกว่า ก่อนจะมีการประกาศใช้นโยบายนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคยยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล จนล่าสุดเตรียมประกาศนโยบาย ดังนั้น เครือข่ายฯ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดกว่า 18 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ฯลฯ ให้สื่อสารกับนายกฯ ว่า นโยบายนี้ขัดกับความเป็นจริง กล่าวคือ การเก็บ 30 บาท ไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.9 เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ จำนวน ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่พราะรักษาฟรี โดยจากข้อมูลอัตราการใช้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระหว่างปีที่ร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้งกับปี 2550 ที่ไม่มีการร่วมจ่ายก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้น เพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

"ที่สำคัญหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันด้วยสิทธิและศักดิ์ศรี จึงขอย้ำว่าประชาชนมีสิทธิ ที่จะไม่ร่วมจ่าย 30 บาท ตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.2555 จริงๆ แล้วโดยหลักเราไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยที่ประชาชนได้ร่วมจ่ายผ่านการเสียภาษีอยู่แล้ว ขณะที่ระบบบริการสุขภาพอื่น คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเช่นกัน แต่ผู้ใช้ไม่ต้องร่วมจ่ายเพิ่ม เครือข่ายฯ ยืนยันว่าจะไม่ขอร่วมจ่ายแน่นอน" น.ส.สุรีรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

แม้กระทรวงสาธารณสุข จะมีประกาศยกเว้น 23 กลุ่มไม่ต้องร่วมจ่ายครั้งนี้ แต่หลายคนมองว่า แล้วสุดท้ายต่างจากเดิมอย่างไร งานนี้คงต้องรอการประเมินในอีก 3 เดือนข้างหน้า!.

--มติชน ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--