ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สธ.เตรียมความพร้อมสถานการณ์ภัยพิบัติ จัดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับและกรมวิชาการรับมือน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยสารเคมี และภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่ดูแลงานด้านสาธารณภัย จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และกรมวิชาการ จำนวน 200 คน เพื่อทบทวนแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยต่างๆ ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ประจำปี 2555 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2555??

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการเตรียมพร้อมแห่งชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในปี 2555 เป็นการทบทวนแผนเตรียมความพร้อมรองรับสาธารณภัย หรืออุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ได้รับบริการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความมั่นใจในระบบบริการสาธารณสุขในทุกระยะของการเกิดภัยอย่างทันท่วงที ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่จัดทำแผนให้ครอบคลุมพิบัติภัยทั้งหมดที่เคยปรากฏในประเทศไทยอย่างน้อย 6 เหตุการณ์ ได้แก่ 1.น้ำท่วม 2.น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม 3.ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม 4.ภัยสึนามิ 5.ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย และ 6.ภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดน ซึ่งจะได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแผนงาน และวิธีการปฏิบัติจากสถานพยาบาลที่เคยอยู่ในเหตุการณ์จริงมาก่อน เพื่อพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้เป็นแผนงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด

"ต้องยอมรับว่าขณะนี้อุบัติภัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และบ่อยกว่าในอดีต ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นเมื่อใด อาจเป็นภัยทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม สึนามิ อุทกภัย หรือภัยจากน้ำมือมนุษย์ เช่น สงคราม เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวังคือ ลดผลกระทบ ลดการสูญเสียของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งชีวิตและทรัพย์สินฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุดและปลอดภัยสร้างความมั่นใจทั้งคนไทยและต่างประเทศดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน หรือสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จะต้องมีทักษะการป้องกันสถานบริการ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และให้การดูแลประชาชนที่ประสบภัยให้ทันต่อเหตุการณ์ บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกจังหวัด ต้องมีการเตรียมความพร้อมเผชิญภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือเวลาใด" นายวิทยา กล่าว??

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาทีมและหน่วยบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับหน่วยเคลื่อนที่ไว้รองรับและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เต็มกำลังในการรักษาพยาบาล การดูแลแบบองค์ รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม การควบคุมป้องกันโรคระบาด การฟื้นฟูสุขภาพกาย สุขภาพจิตและฟื้นฟูระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้สะอาดปลอดภัยโดยเร็วหลังประสบภัย