ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุข จัดยุทธ ศาสตร์ 5 ปี ดันไทยขึ้นเมดิคัล ฮับ เน้นพัฒนาและส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพแบบนานาชาติ พัฒนาระบบ โลจิสติกส์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล เน้นบริการ 4 สาขา เดินเครื่องพัฒนาโรงพยาบาลมาตรฐานนานาชาติ บริการครบสูตร ทั้งล่าม ต่อวีซ่า พร้อมขยายเวลาพำนักรักษาตัว ผู้ป่วย 5 ประเทศ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียและนานาชาติ หรือเมดิคัล ฮับ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ แนวคิดหลักของนโยบายคือ เน้นพัฒนาและส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพแบบนานาชาติ (Medical  Hub and Wellness) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาด ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน

การพัฒนาดังกล่าวจะต่อยอด ที่ได้เริ่มช่วงแรกมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้ไทยสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดปี 2554 มีรายได้ประมาณ 97,874 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และรับบริการด้านสุขภาพ 2.2 ล้านคน

นายวิทยา กล่าวต่อว่า การพัฒนาช่วงที่ 2 กระทรวงได้จัดทำแผนยุทธ ศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของนานาชาติในปี 2555-2559 โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นกรอบกำหนดรูปแบบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์บริการสุขภาพทั่วประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งด้วย มีเป้าหมายหลัก 4 เรื่องได้แก่ 1. การรักษาพยาบาล เช่น ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง การพำนักระยะยาว

2. การส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดเพื่อสุขภาพ3. ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานจีเอซีพีขององค์การอนามัยโลก และ 4. การเพิ่มผลผลิตด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ส่งเสริมให้จัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือกทุกภูมิภาค ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล โดยจะไม่ให้เกิดผลกระทบกับการบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายเวลาพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน โดยไม่ต้องทำวีซ่า และเดินทางเข้าประเทศได้หลายครั้ง รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี ขั้นต้นอนุโลมให้ 5 ประเทศกลุ่มอาหรับ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ คูเวต โอมาน และบาห์เรน ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโรงพยาบาลและคลินิกของไทยให้ได้มาตร ฐาน ระดับนานาชาติ หรือมาตรฐานเจซีไอเอ ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการเฉพาะชาวต่างชาติที่เดียวเบ็ดเสร็จครบวงจร มีล่าม มีหอผู้ป่วย บริการต่ออายุวีซ่า หรือบริการตามหลักศาสนา ทั้งอาหาร และบุคลากร ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและคลินิกของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน 21 แห่ง เดือนนี้จะจัดอบรมเพิ่มขึ้น เน้นการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก รวมทั้งตรวจรับรองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกประเภทให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก้าวสู่การรับรองคุณภาพระดับสากลเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนด้านสุขภาพของประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านบริการสุขภาพอย่างแท้จริง แผนนี้ใช้งบประมาณดำเนินงานประมาณ 3,131 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศรวม 5 ปี ประมาณ 814,266 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยด้านการรักษาพยาบาล คาดจะสร้างรายได้ 672,236 ล้านบาท ด้านการส่งเสริมสุขภาพ 85,669 ล้านบาท ด้านแพทย์แผนไทยฯ 3,868 ล้านบาท ด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 52,493 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาแพทย์แผนไทยจะจัดตั้ง "โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย" ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นเพื่อพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้ได้มาตรฐานการรักษา

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายใต้ "โครงการพัฒนาโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยตัวอย่าง" สานต่อแนวทางเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นสมบัติของประเทศ โครงการได้คัดเลือกโรงพยาบาลที่ให้บริการแพทย์แผนไทยเด่นๆ และมีศักยภาพ 9 แห่ง จากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลนำร่อง 3 แห่งข้างต้นแล้ว โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยอีก 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่, โรงพยาบาลเทิง จ.เชียงราย, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว และโรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี

นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ที่ตั้งอยู่ถนนยศเส กรุงเทพมหานคร โดยโรงพยาบาลจะมีทีมนักวิชาการคณะแพทยศาสตร์ สาขาการแพทย์แผนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมดำเนินการ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น