ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ ยัน “ไม่ประสงค์ร่วมจ่ายค่าบริการ ๓๐ บาท” พร้อมรวบรวมรายชื่อ เคลื่อนพลยื่นหนังสือทุกจังหวัด

สืบเนื่องจากการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.๒๕๕๕ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมกันแถลงข่าวยืนยันว่าไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายค่าบริการ ๓๐ บาท ทั้งนี้จะร่วมกันเคลื่อนไหวต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมร่วมกันยื่นบัตร “ไม่ประสงค์จะร่วมจ่าย ๓๐ บาท แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ”

สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียม ร่วมจ่ายที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ครั้งละ ๓๐ บาทนั้น ถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ” เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจนถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนที่มีรายได้ประจำ ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่มประชาชนที่ยากจน และประชาชนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติก็ตาม จุดนี้ทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ต่างกัน เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจนหรือเป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ

          กชนุช แสงแถลง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพฯ กล่าวว่า รัฐบาลอ้างว่าการเก็บค่าบริการจะช่วยพัฒนาหน่วยบริการและลดการไปใช้บริการเกินจำเป็น แต่ข้อเท็จจริงคือ การเก็บ ๓๐ บาทไม่ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง จากข้อมูลเมื่อปี ๒๕๔๖ รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ ๓๐ บาท รวมทั้งหมด ๑,๐๗๓ ล้านบาท หรือคิด เป็นร้อยละ ๑.๙ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพสถานบริการ การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น

          “สำหรับประเด็นการไปใช้บริการแบบฟุ่มเฟือยที่ภาครัฐกล่าวอ้างนั้น ก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่เป็นความจริง คือ จากสถิติการมาใช้ผู้บริการระหว่างปีที่ร่วมจ่าย ๓๐ บาทต่อครั้ง กับปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมาที่ไม่มีการร่วมจ่าย ก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้น เพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้นตามภาวะความเจ็บป่วยที่สูงขึ้น นอกจากนี้การจะไปโรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียรายได้อื่นๆ

ทั้งนี้มีการประกาศตามประกาศบุคคลยกเว้นไม่ต้องจ่าย ๓๐ บาท ดังกล่าว สรุปแยกเป็นหมวดได้  ๕ หมวดใหญ่ๆ คือ ๑. ผู้มีรายได้น้อย ๒. กลุ่มวัย อายุ สภาพร่างกาย ใจ จิต  มีจำนวน ๕ ประเภท เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เด็กที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น เป็นต้น ๓. กลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ จำนวน ๑๒ ประเภท เช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารผ่านศึก ฯลฯ ๔.  กลุ่มเฉพาะ / พื้นที่เฉพาะ  จำนวน ๒ ประเภท ได้แก่ นักบวชในพุทธศาสนาและ ศาสนาอิสลามรวมถึงครอบครัว และประชาชนในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงาและภูเก็ต ๕. กลุ่มที่นอกเหนือจากข้อยกเว้นอื่นๆ จำนวน ๑ ประเภท  ได้แก่ บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ  (๒๑)

ทางด้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะร่วมกันแสดงความจำนง “ประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการตามวงเล็บ ๒๑” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามประกาศบับนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวในภาคอื่นๆของประเทศ จะร่วมกันยื่นหนังสือแสดงความจำนง “ไม่ประสงค์ร่วมจ่ายค่าบริการ” พร้อมรวบรวมรายมือชื่อผู้ไม่เห็นด้วยต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ และกลุ่มคนอิสานรักหลักประกันสุขภาพจะเคลื่อนไหวในวันที่ 22 สิงหาคมนี้

          ชโลม เกตุจินดา ผู้ประสานงานภาคใต้ กล่าวถึงผลการจัดสมัชชารับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการในเขตภาคใต้ ว่าไม่เห็นด้วยกับการกลับมาเก็บ 30 บาท และความกังวลที่ชัดเจนที่สุดของประชาชน คือความขัดแย้งกันระหว่างผู้ให้บริการกับประชาชนที่จะเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้น หรือกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย

โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยืนยันว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนไทย ที่จะได้รับบริการ สาธารณสุข ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี ที่เท่าเทียมกัน ขอยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิ “ประสงค์ไม่ร่วมจ่าย ๓๐ บาทตามวงเล็บ ๒๑ แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ" โดยการตั้งกล่องบริจาคไว้ที่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานบริการ