ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐบาลเตรียมจัดระบบส่งเสริมดูแลสุขภาพเด็กและสตรีทั้งไทยและต่างด้าวทุกสิทธิครั้งใหญ่ โดยจะทำการยกระดับคุณภาพการบริการ 4 ด้าน คือการฝากครรภ์ คลินิกสุขภาพเด็กดี ศูนย์เด็กปฐมวัย และศูนย์พึ่งได้ เพิ่มสิทธิโดยจัดทำบัตรสุขภาพให้เด็กไทยและเด็กต่างด้าวอายุ 0-6 ปีทุกคน เด็กต่างด้าวจะได้สิทธิบริการพื้นฐานที่จำเป็นเท่าเทียมเด็กไทย เช่น วัคซีนป้องกันโรค พร้อมยกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่บรรจุในภาชนะ ทั้งระดับ โอทอป เอสเอ็มอี และอุตสาหกรรม คุ้มครองความปลอดภัยประชาชน และสร้างเศรษฐกิจ

วันนี้ (21 สิงหาคม 2555) ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบาย ครั้งที่ 6/2555 เรื่อง “การสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ” โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมบัญชีกลาง กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นายวิทยา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องเพื่อพิจารณาทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ 1.นโยบายการดูแลสุขภาพเด็กและสตรี ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยอายุ 0-6 ปี ซึ่งมีเกือบ 5 ล้านคน พบว่ามีระดับสติปัญญาบกพร่องหรือมีไอคิวต่ำกว่า 70 สูงถึงร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ คือร้อยละ 2 เด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยถึงร้อยละ 32 เด็กต่างด้าวยังไม่มีสิทธิประกันสุขภาพ มีเด็กถูกทำร้ายรุนแรง 36 รายต่อวัน ส่วนผู้หญิง ประสบปัญหาแม่วัยทีน โดยประเทศไทยมีวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดลูกร้อยละ 5 ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 2 ในประเทศอาเซียนรองจากประเทศลาว และยังพบว่ามีหญิงถูกทำร้ายถึงวันละ 34 ราย

รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายยกระดับคุณภาพการบริการเด็กและสตรีทุกสิทธิ 4 ด้าน ได้แก่ การฝากครรภ์ คลินิกสุขภาพเด็กดี ศูนย์เด็กปฐมวัยและศูนย์พึ่งได้ซึ่งจะให้การช่วยเหลือเยียวยาเด็ก สตรีที่ได้รับความรุนแรง โดยจะเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการดังนี้ มีการจัดทำบัตรสุขภาพ (Health Card) ให้เด็กไทยและเด็กต่างด้าว อายุ 0-6 ปี มีเลขประจำตัว 13 หลัก พร้อมที่อยู่ชื่อบิดามารดา และมีวันหมดอายุ เพื่อบันทึกสุขภาพของเด็กตลอดจนการรับวัคซีนของเด็กทุกคน โดยให้เด็กและหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับรับบริการในสถานพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง และจะรณรงค์ให้หญิงฝากครรภ์เร็วขึ้นก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีการตรวจเลือดค้นหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) รวมทั้งตรวจเชื้อเอชไอวี ส่วนเด็กแรกเกิดทุกราย จะมีการตรวจเลือด ค้นหาความเสี่ยงโรคขาดสารไอโอดีนและ ตรวจประเมินพัฒนาการทุกราย เพื่อป้องกันปัญญาอ่อน ตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยแข็งแรง ใฝ่รู้ กตัญญู และดูแลบ้านเมือง

ส่วนเด็กต่างด้าวจะได้สิทธิบริการพื้นฐานที่จำเป็นเท่าเทียมเด็กไทย เช่น ได้รับฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือนให้มากขึ้น โดยมีมาตรการดูแลกำกับเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณานมสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยตั้ง 1 โรงเรียน 1 คลินิก ซึ่งเปิดให้บริการแล้วที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และนอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดทำแท๊บเล็ตสุขภาพโดยจะบรรจุเนื้อหาด้านสุขภาพลงในแท๊บเล็ตที่แจกให้นักเรียนด้วย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมหารือเรื่องดังกล่าวข้างต้นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย

เรื่อง 2 คือการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารไทยแปรรูป รวมทั้งสมุนไพรและยาไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่อาเซียนและยกระดับครัวไทยเป็นครัวโลก ตั้งแต่ระดับโอทอป เอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน และส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะสินค้าโอท็อป ซึ่งเป็นการผลิตระดับชุมชน ทั่วประเทศมีกว่า 20,000 ราย มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 50,000 ล้านบาท จะให้ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีพื้นฐานมี อย.รับรอง โดยจะมีการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารต่างๆ และให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้กระทรวงพาณิชย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการขาย จัดช่องทางการตลาด วางจำหน่ายในห้างค้าปลีกรายใหญ่ทุกแห่ง

และเรื่องที่ 3 คือ การจัดงานเมดิคัล เอ็กซ์โป (Medical Expo) ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม–2 กันยายน 2555 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในบริการการแพทย์และบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ. 2555-2559 มี 4 สาขา ได้แก่ บริการการแพทย์ บริการส่งเสริมสุขภาพ บริการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ นอกจากนี้ยังให้แต่ละหน่วยงานตรวจสอบทรัพยากรทั่วไป หากมีผลิตภัณฑ์ หรือ สปาที่เด่นระดับ 4 ดาวขึ้นไป ให้ประชาชนสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้ามาหาข้อมูลได้

ทั้งนี้ในปี 2555 สามารถสร้างรายได้ให้ไทยรวม 121,658 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อรับการรักษาพยาบาล 2.5 ล้านคน การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการแสดงศักยภาพด้านบริการสุขภาพของประเทศไทยเพื่อจะก้าวเป็นผู้นำด้านสุขภาพในระดับนานาชาติ ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดงานจะเป็นลักษณะการแสดงศักยภาพด้านบริการสุขภาพ การสัมมนาทางวิชาการ การเจรจาทางธุรกิจ การบริการตรวจรักษาพยาบาลฟรี