ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สาธารณสุขจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด“นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก” ที่เมืองทองธานี ปีนี้เน้นเผยแพร่นวดไทยเป็นที่ยอมรับทั้งไทยและเทศ ภายหลังองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยในปี 2556 เร่งผลิตแพทย์แผนไทยส่งไปประจำ รพ.สต. ให้ครบ 400 แห่ง เปิดโรงพยาบาลรักษาด้วยแพทย์แผนไทยขนานแท้ต้นแบบ 14 แห่ง เชื่อนวดไทยจะลดการใช้ยาแก้ปวด ยาคลายเครียดลงได้มาก และจัดทำราคากลางยาสมุนไพร/ยาแผนไทยเป็นกรอบการจัดซื้อมาตรฐานเดียวกัน

วันนี้ (5 กันยายน 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 9 รวมทั้งการประชุมการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5–9 กันยายน ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พร้อมมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ.2555 ให้แก่ พ่อหมอสง่า พันธุ์สายศรี หมอพื้นบ้านเหยียบเหล็กแดง แห่งตำบลพะยอม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวิธีการช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย

นายวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าประเภทสมุนไพรของไทย ที่ผ่านมา ตลาดสินค้าสมุนไพร ยาแผนดั้งเดิม อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร ภาพรวมในประเทศ ในปี 2554 มีมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท คาดว่า ในปี 2558 มูลค่าอุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพรจะสูงถึง 30,000 ล้านบาท รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญในการส่งเสริม คุ้มครอง อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย และส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในปี 2556 ได้วางแผนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เร่งผลิตแพทย์แผนไทยและส่งไปประจำในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ให้ได้ 400 แห่ง 2.พัฒนาโรงพยาบาลตรวจรักษาดูแลด้วยการแพทย์แผนไทยต้นแบบ จะเปิดให้บริการ 14 แห่ง ซึ่งจะมีบริการนวด เพื่อการรักษาและนวดเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ มั่นใจว่าจะสามารถลดการใช้ยาแก้ปวด และยาคลายเครียดได้เป็นอันมาก 3.จัดทำราคากลางอ้างอิงยาแผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้สถานบริการจัดซื้อในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาราคากลางมีเฉพาะยาแผนปัจจุบัน และ4.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้ 100 รายการ ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 71 รายการ ซึ่งจะทำให้มียาสมุนไพรที่มีคุณภาพและความปลอดภัย รักษาอาการเจ็บป่วยมากขึ้น

สำหรับการนวดไทยนั้น นับว่าเป็นการบำบัดอาการปวดเมื่อยที่ได้ผลดีมากและให้ผลทางจิตใจ โดยจะมีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้การนวดอย่างเป็นระบบ ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ และนำเข้าสู่ระบบการรักษาอาการปวดเมื่อย เนื่องจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนนานาชาติจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (UNESCO Memory of the World) ได้มีการรวบรวมความรู้ต่างๆ ของไทยหลายหมวด จารึกลงบนแผ่นหินอ่อน จำนวน 1,360 แผ่น และหนึ่งในนั้นเป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง อนามัย ตำรายา ตำราแพทย์แผนไทย และมีการปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวน 80 ท่า เพื่อใช้อธิบายประกอบตำรับตำรา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ทางด้าน นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจัดประชุมการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 5 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์การแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงต่อไป

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ การแสดงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ, การประชุมวิชาการประจำปี มีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แผนยุทธศาสตร์การนวดไทย มรดกไทยสู่มรดกโลก พ.ศ.2555 – 2559, การประกวดผลงานวิชาการ, การฝึกอบรมระยะสั้นกว่า 50 หลักสูตร พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ การปรุงอาหาร ทำยา นวดไทย ฤาษีดัดตน โยคะ การนวดตนเองด้วยอุปกรณ์โบราณยาน้ำมันจากสมุนไพรผีเสื้อ นวดหน้า สปาผม การดูแลความดันโลหิตสูงและเบาหวาน แบบองค์รวมหลากหลายตำรับยาจากยุรเวท รวมทั้งพบยาพื้นบ้านจากประเทศ ลาว พม่า เขมร เวียดนาม และจีนตอนใต้ การตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน/นวดทารก/นวดอันดามันด้วยเปลือกหอยรักษาโรค สวนสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ในปีนี้มีการแจกต้นไม้มหัศจรรย์ยาไทย ได้แก่ ต้นปัดเสนียด ต้นคนทีสอ และต้นมะรุม วันละ 3,000 ต้น และหนังสือบันทึกของแผ่นดิน 5 สมุนไพร ประคบ อบ อาบ นวด วันละ 200 เล่ม ฟรี