ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากข่าวสถานการณ์การระบาดของโรคไข้คอตีบ มีความรุนแรงใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดย กรมควบคุมโรค (คร.) คาดการณ์เส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เผยว่า ไข้คอตีบ เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันที่พบได้ทั่วโลก แต่ประเทศที่อยู่ในเขตโซนอุ่นพบว่ามีผู้ป่วยมาก ในชุมชนที่ไม่มีการฉีดวัคซีนให้ภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการระบาดได้ พบมากในช่วงฤดูฝนและเกิดติดต่อถึงฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดู หนาวที่มีอากาศหนาวเย็นซึ่งเด็กมักเกิดการอักเสบของหลอดลมทำให้มีโอกาสรับ เชื้อได้ง่าย โรคนี้มักเกิดในเด็กโดยเฉพาะเด็กก่อนและระยะต้นๆของวัยเรียน คือช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี หรือพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันก็อาจป่วยเป็นไข้คอตีบได้ โรคที่เป็นในเด็กมักจะมีอาการรุนแรง พบมากในแหล่งชุมชนหรือสถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรคนี้สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย คอรีเนแบคทีเรียม ดีฟธีเรีย(Corynebacterium dighjheriae) ซึ่งทำให้เกิดแผ่นเยื่อขาวบนเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูกทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก

นพ.ศรายุธ กล่าวว่า อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคคอตีบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2-5 วัน บริเวณที่ติดเชื้อจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีเทาหรือสีขาวเกิด ผนังของหลอดคอและที่ต่อมทอนซิลรอบๆแผ่นเยื่อสีเทานี้จะบวมแดง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ นํ้ามูกไหล อ่อนเพลีย อาการ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น ได้แก่ โรคคอตีบของหลอดคอ โรคคอตีบของจมูก โรคคอตีบของหลอดเสียง และโรคคอตีบของผิวหนัง

เมื่อพบว่าเด็กป่วยเป็นไข้คอตีบ นอกจากการรีบพาไปพบแพทย์แล้วควรปฏิบัติตนเฉพาะโรคเพิ่มเติม ดังนี้

1. ต้องให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างจริงจัง อย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์

2. ให้เด็กหรือผู้ที่เป็นโรค แยกอยู่ต่างหากจากเด็กปกติ จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ

3. โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

4. ไม่ควรใกล้ชิดผู้ป่วย จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า เด็กนั้นไม่เป็นพาหะของโรคแล้ว

ซึ่งวิธีการป้องกันโรคไข้คอตีบที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีน (ท็อกซอยด์) แก่ เด็กเล็ก ฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-3 เดือน ฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 2 เดือน แล้วฉีดซํ้าเมื่อเด็กอายุ 1 ปี ฉีดอีกครั้งเมื่อเข้าโรงเรียน และฉีดเมื่อมีการระบาดของโรค