ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เป็นไปตามคาด...กับการแถลงผลงานของ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน ภายใต้ชื่อ "365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน" โดยงานนี้หนีไม่พ้นกับการโชว์ผลงานที่นำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง คือ นโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากจุดเริ่มเกิดในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประเด็นการฟื้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นอกจากต้องการสร้างความมีศักดิ์ศรีในการใช้บริการ และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่แล้ว ยังมุ่งไปที่การพัฒนาการบริการให้ได้คุณภาพเพิ่มขึ้น ทั้งการพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ป่าเขาอีก 200 แห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว เพิ่มระบบการแพทย์ทางไกล หรือเรียกแบบภาษาฝรั่งว่า "เทเลเมดิซีน" ให้ประชาชนที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้พบแพทย์เฉพาะทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และลดค่าเสียโอกาสได้ 4 เท่า รวมทั้งยังขยายสิทธิการบริการที่ไม่ได้คำนึงเพียงผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังรวมถึงผู้ป่วยประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผ่านนโยบายบูรณาการการบริการสุขภาพ 3 กองทุน

นายวิทยาแถลงว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจำนวนทั้งสิ้น 48.5 ล้านคน ผ่านนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีการพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่โดดเด่นที่สุด และได้รับประโยชน์ในประชาชนทุกสิทธิ คือ โครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น" ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638 คน อัตรารอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 ซึ่งยืนยันได้จากผลสำรวจของเอแบคโพลล์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่พบว่าประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาลเลยทีเดียว

นายวิทยาแถลงอีกว่า จากความสำเร็จในการบูรณาการโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก้าวต่อไปจะเดินหน้าขยายสิทธิให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จะให้ผู้ป่วยจากทุกกองทุนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แม้ย้ายสิทธิก็ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเหมือนเคย รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกองทุนจะต้องได้รับยาต้านไวรัสที่ระดับค่าซีดีโฟร์ (CD4) หรือค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะเดินหน้าในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ จะขยายสิทธิเรื่องผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมทุกกองทุนด้วย ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้งให้ได้ภายในปี 2556

ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. เห็นว่า นโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค นับเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่ของไทยที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา อาจยังไม่พร้อมในสถานพยาบาลบางแห่ง อย่างในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ อาจมีบางแห่งไม่เรียกเก็บ ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศการร่วมจ่ายจะมีวิธีที่ซับซ้อนกว่าของประเทศไทย อาทิ บรูไน แม้จะเป็นประเทศร่ำรวย แต่ก็มีการเรียกเก็บกับผู้ป่วยประมาณ 25 บาทต่อการรับบริการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นผู้ป่วยโรคทั่วไป ที่เรียกเก็บในอัตราที่ถูก ขณะที่ผู้ป่วยโรคปานกลางก็จะเรียกเก็บในอัตราอีกระดับ และผู้ป่วยอาการหนัก อาทิ ผ่าตัดสมอง หัวใจ หรือโรคมะเร็ง กลุ่มนี้จะไม่เรียกเก็บเลย เนื่องจากรัฐบาลบรูไนเห็นว่าเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยล้มละลายได้ จึงไม่ควรเรียกเก็บ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยจะมีการประเมินนโยบายดังกล่าว คาดว่าอีกประมาณ 3 เดือนนับจากนี้

เกี่ยวกับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค แม้รัฐบาลจะชูว่าเป็นนโยบายที่ดี สร้างความมีศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ทำให้ความแออัดค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ในทางกลับกัน ด้านชมรมแพทย์ชนบท ทั้ง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรม หรือ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ต่างเห็นว่านโยบายดังกล่าวกลับเป็นการเพิ่มภาระให้แพทย์ผู้ปฏิบัติงานมากกว่าเดิม เนื่องจากต้องมีบุคลากรมาคอยตรวจสอบสิทธิ ขณะที่เม็ดเงินที่ได้รับจากการเก็บ 30 บาท ไม่มากมายเพียงพันกว่าล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็น 23 บาทต่อหัวประชากร จึงไม่แน่ใจว่าจะมีประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้หากมีการประเมินระหว่างมีการร่วมจ่ายกับไม่มีก็จะดีมาก

ขณะที่ น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า การเก็บ 30 บาทไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการและลดการใช้บริการที่เกินความจำเป็นลงได้ ทั้งนี้ข้อมูลปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บ 30 บาท เพียง 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของงบประมาณเหมาจ่าย รายหัวทั้งระบบ สำหรับจำนวนการเข้ารับบริการเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีที่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท กับรักษาฟรี ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการร่วมจ่าย 30 บาท มีทั้งสิ้น 21 กลุ่ม อาทิ ผู้ใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้มีรายได้น้อย ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ผู้พิการ ผู้นำศาสนา นักบวช ทหารผ่านศึก นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนทหาร และทหารเกณฑ์ โดยกลุ่มที่ 21 ระบุชัดว่าไม่ประสงค์ร่วมจ่ายได้ จึงไม่เข้าใจว่าแตกต่างจากเดิมอย่างไร

แถลงผลงานครั้งนี้ยังมีผลงานที่โดดเด่นมากมาย ทั้งนโยบายด้านยาเสพติด การช่วยปราบปรามยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ฯลฯ เรียกว่าโดดเด่นจริงๆ เพราะแว่วมาว่าใช้งบประมาณจัดงานร่วม 4 ล้านบาทเลยทีเดียว.

"ประเด็นการฟื้นนโยบาย  30 บาทรักษาทุกโรค นอกจากต้องการสร้างความมีศักดิ์ศรีในการใช้บริการ และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่แล้ว ยังมุ่งไปที่การพัฒนาการบริการให้ได้คุณภาพเพิ่มขึ้น"

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 8 ก.ย.2555