ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ดันร่าง กม.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ นักกฎหมายยันไม่ได้ทำลายชาวไร่ยาสูบ ชี้ปลูกขายได้น้อยเพราะโรงงานยาสูบถูกบุหรี่นอกแย่งตลาด ย้ำเพื่อป้องกันเยาวชนคุ้มครองคนไม่สูบบุหรี่ เตรียมทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย 14 ก.ย.นี้

จากกรณีสมาคมการค้ายาสูบไทย และสมาคมผู้บ่มยา ได้ร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ...ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เข้าด้วยกัน โดยอ้างว่าเป็นการทำให้ชาวไร่ยาสูบปลูกยาสูบได้น้อยลงและค้านกรณีการร่างกฎหมายเรื่องอายุของผู้ซื้อห้ามต่ำกว่า 20  ปีว่าเป็นทำให้ร้านค้าปลีกเสียรายได้นั้น

นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการคัดค้าน พ.ร.บ.เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นนักสูบหน้าใหม่ และคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยไม่มีมาตราใดเลยที่เข้าไปควบคุมหรือเกี่ยวข้องกับชาวไร่ที่ปลูกใบยาสูบแต่อย่างใดทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวไร่ยาสูบมีปริมาณการขายที่ลดลง เกิดจากโรงงานยาสูบของไทย ซึ่งเป็นผู้ซื้อใบยาหลักมีการจำหน่ายลดลง โดยเกิดจากบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการ มี พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ จะคุมเรื่องการโฆษณา การตลาดต่างๆ จะทำให้บุหรี่ต่างประเทศเข้ามาโจมตีตลาดลดลง โดยหลักการของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ฉบับใหม่ยังเหมือนเดิม เพียงแต่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อเหตุการณ์

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ประเด็นที่สมาคมผู้ค้ายาสูบ ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะเรื่องอายุของผู้ซื้อบุหรี่นั้น ถือเป็นความตะกละของบริษัทบุหรี่ เพราะอัตราผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนมีเพียงร้อยละ10 ของตลาดทั้งหมดเท่านั้น ส่วนมาตรการห้ามการขายปลีกหรือแบ่งมวนนั้นเพื่อทำให้มาตรการทางภาษีซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด สามารถป้องกันเยาวชนอย่างได้ผลด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ก.ย. จะมีการทำประชาพิจารณ์ภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่โรงแรมริชมอนด์ เป็นการประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย และจะนำเสนอ "(ร่าง)พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ...." คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบเพื่อส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบก่อนนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติต่อไป

ที่มา: นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 14 ก.ย. 2555