ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากข้อตกลงของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ AEC ในปี 2558 ประเด็นหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การตกลงร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มทั้ง 10 ประเทศเรื่องการกำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติ 7 อาชีพที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานเสรีระหว่างกัน ได้แก่ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ  นักบัญชี ทันตแพทย์ และพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย แลกเปลี่ยนแรงงานได้อย่างเสรี

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ คณบดีบริหารกลุ่มวิทยาลัยการแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แรงงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นอีกสาขาที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น เพราะทุกประเทศล้วนประสบปัญหาเดียวกันคือ ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับประชากรของประเทศตนเองที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา พบว่าทุกประเทศทั่วโลกต้องประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด แม้แต่แพทย์แผนตะวันออก และเพื่อเป็นการตอบรับประชาคมอาเซียนปี 2558 มหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมเดินหน้าผลิตบัณฑิตที่มีความชำนาญในสาขาเหล่านี้เพิ่มขึ้น

"ที่ผ่านมาวิชาชีพวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีผู้สนใจเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของสถาบันศึกษาและมาตรฐานในห้องเรียนที่มีกฎชัดเจนเรื่องการกำหนดจำนวนผู้เรียนต่อห้องเรียน อีกทั้งยังมีการแข่งขันในการผลิตบุคลากรด้านนี้ค่อนข้างสูงทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน"

สำหรับประเทศไทย นอกจากมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ไว้รองรับความต้องการภายในประเทศแล้ว อีกด้านก็มีความต้องการบุคลากรด้านนี้ไว้รองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ จากปัจจัยเด่นทางด้านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ หมอ รวมถึงพยาบาลที่มีใจรักบริการ และได้รับการฝึกฝนมาโดยตรง ค่ารักษาถูก มีประสบการณ์ในการรักษาเป็นที่น่าเชื่อถือได้

ตอนนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ อย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ต่างการเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยส่วนมากเป็นการผลิตจากภาคเอกชน เพื่อส่งออกแรงงานไปยังประเทศต่างๆ แล้วนำเงินส่งกลับประเทศตนเอง

เห็นได้ชัดเป็นฟิลิปปินส์ที่พยายามผลิตบุคลากรด้านพยาบาลประมาณปีละ 7-8 หมื่นราย โดยมุ่งเน้นส่งออกแรงงานพยาบาลไปทั่วโลกให้ได้มากที่สุด ส่วนอินโดนีเซีย ผลิตพยาบาลส่งประเทศที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก เวียดนามเองก็เพิ่มอัตราการผลิตขึ้นมาเช่นกัน ขณะสิงคโปร์กับมาเลเซีย ตอนนี้มีความพยายามที่จะเพิ่มอัตราการผลิตพยาบาลเช่นกัน รวมถึงการพยายามตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์

สิ่งที่น่าหนักใจสำหรับวิชาชีพด้านแพทย์ พยาบาล สำหรับประเทศไทย คือ นโยบายของรัฐบาลในด้านนี้ยังขาดความชัดเจน ที่ผ่านมาตลอดเวลา 40-50 ปีแม้จะมีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์สู่ชุมชน โดยอาศัยกลไกบังคับใช้ทุนการศึกษา และการให้ทุนกับผู้เรียนในแต่ละท้องถิ่นเข้ารับการศึกษาด้านนี้โดยตรง เพื่อให้ผู้เรียนกลับไปทำงานรับใช้ชุมชน แต่ยังพบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ส่วนมากเลือกที่ยังกระจุกตัวในพื้นที่เมือง จังหวัด หรืออำเภอเป็นหลัก

เทียบจากสัดส่วนแล้วทุกวันนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตพยาบาลประมาณ 8 พันคนต่อปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ผลิตได้มากถึงปีละ 6 หมื่นคน อินโดนีเซีย เพิ่มอัตราการผลิตเป็น 4-5 หมื่น ส่วนมาเลเซียผลิตได้มากกว่าไทยทั้งที่มีประชากรน้อยกว่าไทยถึง 1 ใน 3 เหตุผลหลักมาจากนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่สนับสนุนและมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะส่งออกแรงงานด้านใดเพื่อดึงเงินตราเข้าประเทศ

จุดเด่นของพยาบาลไทย อยู่ตรงที่ทักษะวิชาชีพที่รู้จริงทำได้จริง มีน้ำใจ มีมารยาทที่ดีในการดูแลผู้ป่วย ผู้มาใช้บริการต่างชาติรู้สึกพึงพอใจมากด้านบริการ แต่กำลังผลิตก็สวนกระแสกับความต้องการมาตลอด เพราะยังขาดนโยบายการส่งเสริมที่ชัดเจนจากภาครัฐในจุดนี้

ไม่เพียงนโยบายการผลิตเท่านั้นที่สำคัญ แรงจูงใจที่ทำให้คนที่เรียนพยาบาลทำงานในสาขาที่เรียนมาก็มีน้อย เพราะที่ผ่านมาผู้ที่เรียนพยาบาลมักไม่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานประจำแต่เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ความก้าวหน้าในอาชีพก็แทบไม่มี ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีความสำคัญไม่แพ้ หมอ ทหาร หรือตำรวจ

"ผมอยากเห็นรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการผลิตแรงงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพครูแพทย์ ครูพยาบาล หรือผู้เรียน ที่ต้องการทำอาชีพแพทย์และพยาบาล เพราะหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่เป็นของรัฐหรือเอกชนก็พร้อมเพิ่มกำลังผลิตบุคลากรในแต่ละปีได้มากขึ้น แถมมีคุณภาพไม่แพ้ต่างชาติ"

นอกจากกำลังผลิตพยาบาลแล้วความสามารถในการผลิตบุคลากรแพทย์ของไทย ทุกวันนี้น้อยกว่าความอยากเรียนของผู้เรียนอยู่มาก ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนอยากเรียนแพทย์เป็นจำนวนมาก แต่ข้อจำกัดในการผลิตมีน้อยทำให้เมื่อสอบไม่ได้ก็หันไปเรียนแพทย์ในต่างประเทศแทน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ และจีน เมื่อสอบใบอนุญาตก็พบว่ามีปัญหาด้านภาษา เนื่องจากการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างชาติ อย่าง จีน ศัพท์ทางการแพทย์ก็เป็นภาษาจีน เขียนบันทึกเป็นภาษาจีน ตำราเป็นภาษาจีน การเขียนชื่อโรคก็เป็นภาษาจีน หากไม่ชำนาญเรื่องภาษาอาจเกิดปัญหาเมื่อกลับมาสอบใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย

"ความต้องการบุคลากรในประเทศสูง ความต้องการของผู้เรียนในด้านนี้ก็มีเยอะ เวลาเปิดเสรีอาเซียน อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ แรงงานกลุ่มนี้ที่มีอยู่ในไทยอาจย้ายไปทำงานต่างประเทศทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนมากขึ้นกว่าเดิม"

ส่วนกำลังผลิตทันตแพทย์ที่ ม.รังสิต ปัจจุบันมีหลักสูตรสองภาษาอยู่แล้ว เชื่อว่าการรวมกลุ่มในอาเซียนจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบุคลากรระหว่างกัน และตัวผู้เรียนจะสามารถทำงานในต่างประเทศได้ไม่ยาก

ในปีนี้ ม.รังสิต เตรียมผลิตแพทย์เพิ่มด้วยการร่วมกับโรงพยาบาลเลิดสินผลิตบุคลากรทางการแพทย์ จากเดิมที่มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถีมาก่อนหน้า เป้าหมายเพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์ให้มากกว่าเดิม โดยปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรสองภาษา รวมถึงรับอาจารย์ต่างชาติมาสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรองรับการสอบใบประกอบวิชาชีพในรูปแบบภาษาอังกฤษที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

นอกจากการเรียนการสอนแพทย์แล้ว ในส่วนหลักสูตรพยาบาล ม.รังสิตมีการเปิดเป็นหลักสูตรสองภาษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีความร่วมกับมหาวิทยาลัย Malardalen (MDU) ประเทศสวีเดน ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนกับทั้งไทยและสวีเดน เมื่อจบแล้วจะได้รับปริญญาสองใบ ซึ่งทางสถาบันเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนนักศึกษาดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเรื่องภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในทุกประเทศทั่วโลก

โดยเป้าหมายหลัก ม.รังสิต ไม่ได้มุ่งหวังให้แรงงานของเราไปทำงานต่างประเทศโดยตรงเพียงแต่เพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียนได้มีทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งอยากให้รัฐบาลอย่ามัวห่วงว่าแรงงานไทยจะไปต่างประเทศ แต่ให้หันมาห่วงเรื่องสวัสดิการ และแรงจูงใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพราะหากรัฐกำหนดนโยบายผลักดันเรื่องสวัสดิการที่ดี มีการจ้างและบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำของระบบสาธารณสุข เชื่อว่า แรงงานไทยก็ไม่อยากไปทำงานที่อื่นแน่นอน

"ความเข้าใจเรื่องภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ เป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานไทยสามารถทางานที่ไหนก็ได้ในทุกประเทศทั่วโลก"

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 ก.ย. 2555